Niche market คือ แนะนำหลักการทำ niche marketing ให้เจริญเติบโต

by goodmaterial
Niche market คือ

ในยุคที่การแข่งขันเปิดกว้างและดุเดือด ใครมีเงินลงทุนมากกว่าก็สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า ธุรกิจรายใหญ่ครอบครองตลาดจนรายเล็กแทบจะแทรกตัวเข้ามาแข่งขันได้ยากขึ้นไปทุกที แต่การตลาดที่เรียกว่า Niche market คือ ทางออกของปัญหานี้ ในบทความนี้ Good Material จะมาเล่าถึงการทำการตลาดแบบ Niche marketing แนะนำให้ทราบถึงองค์ประกอบ ประโยชน์ และวิธีการ เพื่อให้คุณเห็นภาพได้มากยิ่งขึ้นครับ

 

Niche market คือ

Niche market คือ ตลาดเฉพาะส่วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตลาดใหญ่ที่มีความต้องการและความชอบในแบบของตนเอง บริษัทต่าง ๆที่ให้ความสำคัญต่อ Niche market จะตอบสนองผู้บริโภคได้ดีกว่าคู่แข่งที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบกว้าง (Mass Market)

เกือบทุกตลาดสามารถค้นหาความต้องการเฉพาะของลูกค้าตามความชอบ ลักษณะปัญหาเชิงลึกได้ โดยองค์ประกอบในการกำหนดตลาดขึ้นอยู่กับการแบ่งกลุ่มลูกค้า (Segmentation) ดังนี้

  • Demographics Segmentation : การแบ่งกลุ่มตามข้อมูลประชากร
  • Psychographic Segmentation : การแบ่งกลุ่มตามหลักจิตวิทยา
  • Geographic Segmentation : การแบ่งกลุ่มตามหลักภูมิศาสตร์
  • Behavioral Segmentation : การแบ่งกลุ่มตามพฤติกรรม
  • Price : การแบ่งกลุ่มตามราคาสินค้า (หรูหรา ปานกลาง สินค้าราคาถูก)

Targeting Strategies คือ

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายที่สุด เช่น ตลาดใหญ่ Mass Market คือพิซซ่าทั้งแผ่น ส่วน Niche Market คือพิซซ่า 1 ชิ้น ที่คุณได้เลือกเฉพาะเจาะจงไว้แล้ว

การเน้นเลือกลูกค้าเฉพาะกลุ่มเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ เพื่อตอบสนองฐานลูกค้าบางกลุ่มให้ดีกว่าคู่แข่งที่กำหนดกลุ่มลูกค้าแบบกว้าง (Mass) ในหัวข้อหลังๆ เราได้เขียนยกตัวอย่างเพื่อให้คุณได้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นไว้แล้วครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง : Segmentation Targeting Positioning คือ ทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับ STP Marketing

 

ทำไมคุณควรมี Niche market

ถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการรายใหม่ หรือ เจ้าของกิจการที่ต้องการเปิดตลาดใหม่ การจำกัดฐานลูกค้าของคุณให้แคบลงเพื่อตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะเจาะจง จะทำให้คุณสร้างฐานลูกค้าได้ง่ายยิ่งขึ้นแถมใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อสร้างผลลัพธ์ให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าหากคุณนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการแบบเดียวกับคนอื่นโดยไม่มีอะไรแตกต่าง อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความได้เปรียบกับคู่แข่งรายอื่น และเป็นงานยากที่จะดึงดูดลูกค้า

เมื่อคุณมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง เปิดใจรับฟังสิ่งที่พวกเขากำลังมีปัญหาหรือสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ คุณจะสามารถวางตำแหน่งสินค้าหรือบริการของคุณให้เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา ถูกคน และด้วยภาษาที่ถูกจริตกับบุคคลกลุ่มนั้น

 

ประโยชน์ของ Niche market

การเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market) มีข้อดีหลายอย่างมาก จึงไม่แปลกใจที่ธุรกิจต่างๆมักจะพยายามพัฒนาสินค้าและบริการให้โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งถือเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวเอง หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า USP (Unique Selling Point) โดยประโยนช์ที่คุณจะได้รับ มีดังนี้ :

  • การแข่งขัน : หากคุณอยู่ในตลาดเฉพาะ ก็จะทำให้มีการแข่งขันน้อยลง เนื่องจากธุรกิจของคุณมีความเชี่ยวชาญที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า จึงมีโอกาสน้อยที่ธุรกิจอื่นจะมาเป็นคู่แข่งได้โดยตรง
  • โฟกัส : การทำตลาด Niche หมายความว่า คุณสามารถมุ่งเน้นการทำข้อเสนอต่างๆให้กับสินค้าหรือบริการของคุณได้อย่างสมบูรณ์แบบสำหรับกลุ่มที่คุณเลือกไว้โดยเฉพาะ ในทางกลับกันถ้าคุณกำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบกว้าง หมายความว่าคุณต้องปรับสิ่งที่คุณจะขายให้เข้ากับกลุ่มคนจำนวนมากที่แตกต่างกัน ทั้งด้านข้อมูลประชากรและจิตวิทยาการซื้อทำให้ยากที่จะโฟกัส
  • ความเชี่ยวชาญ : การทำตลาดเฉพาะกลุ่มนี้ จะค่อยๆสร้างความเชี่ยวชาญให้กับคุณใน 2 เรื่อง คือ

1.ความเชี่ยวชาญต่อการนำเสนอสินค้าและบริการให้กับกลุ่มคนที่คุณได้เลือก คุณจะเข้าใจนิสัยการซื้อ ความต้องการเฉพาะตัว รูปแบบการตอบสนองอย่างแท้จริง เมื่อคุณเข้าใจลูกค้าเป็นอย่างมาก ก็จะทำให้ลูกค้าเป็นแฟนพันธุ์แท้ที่มีความภักดีต่อธุรกิจของคุณ

2.คุณจะมีเวลาโฟกัสในเรื่องการปรับปรุงสินค้าและบริการของคุณ ทั้งการวิจัยข้อดี – ข้อเสีย เพื่อผลิตสินค้าที่ช่วยให้ลูกค้าพึงพอใจมากยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งจะช่วยในการส่งเสริมความภักดีของลูกค้าอีกทางหนึ่ง

Niche market คือ

5 องค์ประกอบในการเลือก Niche Market

การพิจารณาองค์ประกอบของ Niche Market จะช่วยให้คุณกลับมาทำการบ้านถึงปัจจัยภายใน ว่าธุรกิจของคุณพร้อมจะเข้าสู่ตลาด Niche หรือไม่ อะไรที่ต้องปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น โดยการพิจารณาจากคำถามเหล่านี้ครับ

  • ในตลาดที่คุณอยู่ คุณกำลังเผชิญการแข่งขันแบบไหน
  • ความเชี่ยวชาญของคุณ เป็นที่น่าพอใจและเป็นที่ต้องการจริงๆหรือไม่
  • ความเชี่ยวชาญของคุณและตลาดนั้นๆ สร้างผลกำไรได้สูงหรือไม่
  • ช่วยแก้ปัญหาและความต้องการของลูกค้าได้จริงๆหรือไม่
  • Niche นั้นๆ เป็นสิ่งที่ลูกค้าจ่ายเงินให้หรือไม่

Niche Market คือ

1.การแข่งขันน้อยที่สุด

องค์ประกอบแรกของการทำ Niche Market คือ การตรวจสอบสถานะปัจจุบันของตลาด เนื่องจากการเข้าไปแข่งขันในตลาดที่คู่แข่งมาก หากเข้าไปทีหลังจะทำให้คุณเสียเปรียบมากเช่นกัน ในขั้นตอนนี้คุณจะต้องศึกษาตลาดอย่างละเอียด เพื่อหาว่า Niche นั้นๆมีช่องว่างตรงไหนที่อาจจะมีคู่แข่งน้อย หรือตลาดยังมีความต้องการ (พยายามมองหาส่วนที่ขาด แล้วเราสามารถเข้าไปเติมเต็มส่วนนั้นได้)

นี่คือคำถามเพื่อช่วยในการคัดกรอง

  • ในอุตสาหกรรมนั้นมีความสามารถในการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน
  • มีจำนวนคู่แข่งมากหรือไม่
  • ธุรกิจที่อยู่ในตลาดประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่ละกิจการทำอะไรแตกต่างกันบ้าง และแตกต่างกันอย่างไร
  • คุณกำลังจะทำอะไรที่โดดเด่นและเข้าไปเชื่อมต่อกับลูกค้าด้วยวิธีที่ไม่เหมือนใคร อย่างไร

ถ้าหากตลาดที่คุณสนใจมีเจ้าตลาดอยู่แล้ว และคุณต้องการที่จะเข้าไปแย่งส่วนแบ่งเพื่อเป็นเจ้าตลาด คุณมี 3 ทางเลือกเท่านั้น คือ

  • เร็วกว่าคนอื่น : คุณอาจจะบริการได้รวดเร็วกว่า ส่งของได้เร็วกว่า หรือปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมของลูกค้าได้เร็วกว่า
  • ถูกกว่า : คุณอาจจะลดราคาของคุณจนต่ำกว่าคู่แข่งเพื่อแย่งลูกค้ามา (สำหรับวิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่แนะนำเลยครับ เพราะในการแข่งขันระยะยาว การลดราคาอย่างเดียวไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืน)
  • คุณภาพดีกว่า : คุณต้องมีความสามารถที่จะนำเสนอคุณภาพที่ดีของสินค้าและบริการของคุณ ว่าดีกว่าคู่แข่งอย่างไร

ทั้ง 3 ประการที่ได้กล่าวมานี้ คุณสามารถควบคุมให้เสมาะสมกับธุรกิจเพียงโฟกัสและทำให้ได่ 2 ใน 3 ก็เพียงพอที่จะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันได้แล้ว

  • เร็ว + ถูก = คุณภาพต่ำ
  • เร็ว + ดี = ตุ้นทุนสูง (แพง)
  • ถูก + ดี = ช้า
  • รวดเร็ว + ถูก + ดี = เพอร์เฟค!!!

การพิจารณาในองค์ประกอบเหล่านี้ จะช่วยให้คุณหาตลาดที่มีการแข่งขันน้อยออกมาได้ แทนที่จะดึงดูดลูกค้าด้วยราคาที่ต่ำที่สุด หรือ นำเสนอคุณภาพสูงสุดเพียงเท่านั้น แต่การวิเคราะห์ตลาดที่เหมาะสม จะทำให้คุณเจอกลุ่มที่ใช่และมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

Niche Marketing

2.คุณเป็นมืออาชีพในสายงานและมีความสุขที่จะทำ

สำหรับการแข่งขันให้ชนะใน Niche Market คือ การนำเสนอสินค้าที่ดีกว่าคนอื่น และการจะทำอะไรให้เป็นไปได้ดีนั้น มักมาจาก 2 องค์ประกอบด้วยกัน คือ

  • 1.คุณมีความรู้ความสามารถด้านนั้นๆ อาจจะมาจากพรสวรรค์หรือพรแสวง
  • 2.คุณมีความชอบ ความหลงใหลที่ได้ทำ มีความสุขที่ได้ให้บริการ

ธุรกิจที่คุณทำเป็นส่วนเสริมของความฝัน ความทะเยอทะยาน และความสามารถของคุณเอง แต่ถ้าหากว่าคุณฝืนทำไปแบบไม่มีความสุข ก็อาจะส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจและสภาพร่างกายของคุณได้ ถ้าหากรู้สึกว่าธุรกิจของคุณกำลังบั่นทอนสภาพจิตใจ หรือเกิดความสงสัยในตัวเอง ก็ถึงเวลาที่คุณควรประเมินตัวเองอย่างจริงจังว่ากลยุทธ์การตลาดของคุณเหมาะสมจริงๆหรือไม่

นอกเหนือจากความสุขที่ได้ทำ บางทีคุณอาจจะไม่ได้รู้สึกแย่จากการทำธุรกิจ แต่คุณแค่ไม่ค่อยเห็นผลลัพธ์ ทำไปแล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง หากเป็นเช่นนี้คุณอาจจะต้องกลับมาประเมินอีกปัจจัยนั่นก็คือ ความสามารถในการทำกำไร ซึ่งเราจะพูดถึงในหัวข้อถัดไปครับ

Niche Market

3.มีศักยภาพในการทำกำไร

องค์ประกอบอีกส่วนที่สำคัญของ Niche Market คือ การตั้งคำถามว่า ธุรกิจที่คุณทำมันทำเงินหรือไม่? ตลาดเฉพาะที่คุณเลือกสามารถสร้างผลกำไรสูงพอที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดทางธุรกิจได้หรือไม่?

ในประเด็นนี้ควรกลับมาวิเคราะห์กิจการของคุณอย่างละเอียดถึงเรื่อง ต้นทุน ผลกำไร จากสินค้าที่คุณขายหรือบริการทั้งหมดที่มี ประกอบด้วย

  • ค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบ
  • ต้นทุนด้านบุคลากร (ค่าจ้างพนักงาน)
  • เงินเดือนของคุณเอง
  • ค่าอุปกรณ์
  • ค่าโฆษณา
  • เอกสารประกอบ
  • อื่นๆ

ทีนี้คุณควรคำนวนอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) เพื่อใช้ประเมินประสิทธิภาพของธุรกิจ โดยดูว่ารายได้ที่ได้จากการขาย เมื่อหักต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตออกแล้ว เหลือเป็นกำไรเท่าไหร่

อัตรากำไรขั้นต้น (%) = (ขายสุทธิ – ต้นทุนขาย / ขายสุทธิ) x 100

ตัวเลขที่ได้ คือ อัตรากำไรในรูปของ % ที่แสดงถึงผลกำไรที่แท้จริงของธุรกิจ ยอดขายรวมคุณอาจจะสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจของคุณจะไปได้ดีจริงๆ หากอัตรากำไรของคุณอยู่ที่ 5% หรือ ต่ำกว่า มันแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของคุณกำลังมีปัญหา

จากที่ผมได้พูดในหัวข้อก่อนหน้าว่า การจะแข่งขันเรื่องราคาเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำ เพราะมันจะส่งผลถึงกำไรของคุณ กำไรของกิจการหมายถึงความอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งมีหลายกิจการเป็นแบบนี้ที่ขายดีจนเจ๊งก็เพราะสาเหตุนี้ครับ

ถ้าคุณพิจารณาอัตรากำไรแล้วว่ามันยังน้อยเกินไป คุณต้องเข้าไปปรับปรุงใน 2 เรื่อง คือ

  • พิจารณาว่าสินค้าหรือบริการใดสร้างผลกำไรสูงสุด และจะเพิ่มอัตรากำไรได้อย่างไร
  • คุณสามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนไหนได้บ้าง หรือ เพิ่มประสิทธิภาพขั้นตอนใดได้บ้าง

เมื่อคุณได้ลองปรับเปลี่ยน อัตราผลกำไรจะมีแนวโน้มสูงขึ้นครับ

Niche Market คือ

4.แก้ปัญหาให้ลูกค้าได้หรือไม่

ในองค์ประกอบที่สี่ของ Niche Marketing คือ การแก้ปัญหาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งให้กับลูกค้าของคุณ

ลองพิจารณาสินค้าหรือบริการของคุณว่าได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าในส่วนใด

ตัวอย่างแนวคิดการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาของลูกค้า :

  • เข้าไปช่วยให้ลูกค้ามีความสุขมากขึ้น
  • ช่วยให้ลูกค้าประหยัดเวลามากขึ้น
  • ช่วยให้ลูกค้าประหยัดเงินมากขึ้น
  • ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัยขึ้น
  • ช่วยให้ลูกค้าเพิ่มประสิทธิภาพในสิ่งที่ทำอยู่มากขึ้น
  • ช่วยให้ลูกค้ามีความรู้มากขึ้น
  • ช่วยให้ลูกค้าแข็งแรงขึ้น

ธุรกิจที่เติบโต คือ ธุรกิจที่มองเห็นปัญหาของลูกค้าและใช้สินค้าและบริการเข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด คำถามคือ ธุรกิจที่คุณกำลังทำเข้าไปแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้หรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ แนะนำให้ลองหาว่าส่วนไหนของธุรกิจ สามารถแก้ปัญหาให้ผู้คนได้บ้าง และนั่นอาจจะเป็นคำตอบครับ

Niche Market

5.มีความต้องการในตลาดแข็งแกร่งหรือไม่

ความต้องการในตลาด หมายถึง ความต้องการของสินค้าหรือบริการของผู้บริโภค สิ่งนี้พิจารณาจากความเต็มใจที่ผู้บริโภคจะจ่ายเงินเพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการหนึ่งๆ สิ่งที่คุณต้องทำคือ การวิเคราะห์วิจัยว่าตลาดเฉพาะที่คุณจะทำนั้น มีผู้คนต้องการมากน้อยเพียงใด ซึ่งหัวข้อนี้จะเป็นส่วนของการวิจัยความต้องการของตลาด

เครื่องมือสำหรับวิจัยตลาดได้แก่ :

  • การทำแบบสำรวจ
  • การทดลอง
  • การตั้งข้อสังเกต

ผมได้ยกตัวอย่างการวิจัยตลาดเบื้องต้นด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า Ubersuggest ในหัวข้อ ทำการวิจัยอุตสาหกรรม (ด้านล่าง)

 

วิธีหา Niche Market

หากมาถึงส่วนนี้ คุณอาจกำลังมีความสนใจที่จะเริ่มทำ Niche Marketing ไม่มากก็น้อย ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการระบุโอกาสทางการตลาดใน 4 ขั้นตอน

1.ระบุจุดแข็งและความสนใจของคุณ

ขั้นตอนแรกของการเริ่มทำ Niche Market คือ การพิจารณาสิ่งที่คุณทำได้ดี การรู้จุดแข็งจะช่วยให้คุณนำจุดแข็งนั้นไปวิเคราะห์โอกาสในตลาดได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งจุดแข็งสามารถเป็นจุดขายหรือเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้ ดังนั้นคุณต้องไตร่ตรองถึงคุณสมบัติพิเศษ และข้อโดดเด่นของแบรนด์ ทีม รวมถึงข้อเสนอของคุณ

คำถามสำหรับวิเคราะห์จุดแข็งได้แก่ :

  • คุณสามารถแก้ปัญหาเฉพาะอะไรได้บ้าง
  • คุณแก้ปัญหาอะไรได้ดีกว่าคู่แข่ง
  • คุณเก่งตรงไหนเป็นพิเศษ
  • คุณและทีมมีความสุขที่จะให้บริการใคร

นอกจากชุดคำถามนี้แล้ว ผมเสนอให้คุณทำการวิเคราะห์ SWOT เพื่อหาถึง 4 ปัจจัย ได้แก่

  • จุดแข็ง
  • จุดอ่อน
  • โอกาส
  • อุปสรรค

ซึ่งจะช่วยให้คุณเห็นมุมมองทั้งภายในและภายนอกในการทำธุรกิจได้ครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง : SWOT คือ แนะนำหลักการใช้ SWOT Analysis ในการวิเคราะห์ธุรกิจ

 

2.ทำการวิจัยอุตสาหกรรม

เมื่อคุณมีความคิดเกี่ยวกับประเภทของอุตสาหกรรมเฉพาะกลุ่มที่คุณต้องการแล้ว ให้ตรวจสอบความคิดอีกรอบว่าเป็นความคิดที่สมเหตุสมผลหรือไม่ วิเคราะห์การแข่งขันว่ามีคู่แข่งมากหรือน้อยแค่ไหน หากมีแบรนด์ที่เป็นคู่แข่ง คุณต้องศึกษาว่าคู่แข่งกำลังทำอะไรอยู่

เมื่อคุณวิเคราะห์คู่แข่งอย่างละเอียดแล้ว คุณจะพอได้ไอเดียว่า ในตลาดเป้าหมายของคุณมีความต้องการที่ยังไม่ได้ถูกเติมเต็มจากคู่แข่งของคุณอยู่ในบางจุด

ตัวอย่างการวิเคราะห์อุตสาหกรรม “กางเกง” โดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Ubersuggest

Ubersuggest เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์คำค้นหา (Keyword) ที่ผู้คนพิมพ์หาในเว็บ Google แล้วจะแสดงออกมาในรูปของ วลี หรือ คำค้นหากว้างๆ ซึ่งช่วยให้คุณเห็นถึงความต้องการของตลาดที่ลึกขึ้น ในรูปด้านล่างผมลองค้นหาคำว่า “กางเกง” ซึ่งมันกว้างมาก เครื่องมือจะช่วยหาประเภทของกางเกงที่เฉพาะเจาะจงมาให้ดังนี้

ในกรณีนี้ผมจะลองเข้าไปเจาะลึกใน Niche Market ของกางเกงยีนส์เพิ่มเติมครับ

จะเห็นว่าในตลาดใหญ่ของคำว่ากางเกงยีนส์ ยังมีตลาดที่แยกประเภทออกไปอีกหลายกลุ่มด้วยกัน กรณีนี้ผมจะเจาะเข้าไปที่ตลาดเฉพาะกลุ่มในส่วนของ “กางเกงยีนส์เอวสูง”

มาถึงส่วนนี้คุณจะได้ Niche จากตลาดกางเกงที่กว้างมาก พอคุณวิจัยตลาดมาเรื่อยๆ คุณอาจจะสนใจเฉพาะกลุ่มของ “กางเกงยีนส์เอวสูง ขากระบอก” หรือ “กางเกงยีนส์เอวสูง คนอ้วน” ซึ่งเป็นตลาดที่เฉพาะกลุ่มมากๆ

 

3.ทำความรู้จักกับลูกค้าในอุดมคติ

ก่อนที่จะเริ่มทำการตลาดหรือขายของ การรับรู้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าจะช่วยให้คุณมีมุมมองหรือแรงบันดาลใจในการทำการตลาด โดยเฉพาะตลาดเฉพาะกลุ่ม คุณต้องเข้าไปทำความรู้จัก รู้นิสัยใจคอ รู้สิ่งที่พวกเขาต้องการและไม่ต้องการ หรือถ้าเป็นไปได้ควรรู้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร ซื้อของตอนไหน เล่นเฟสบุ๊กเมื่อไหร่ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณนำเสนอสินค้าและบริการได้ถูกคน ถูกเวลา ด้วยข้อความโฆษณาที่ถูกใจที่สุด

เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ลูกค้าในอุดมคติ

  • วิเคราะห์ STP Marketing : STP มาจากคำว่า Segmentation Targeting Positioning เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เลือกกลุ่มลูกค้าซึ่งคุณได้เลือกมาแล้วคือ Niche Market และวางตำแหน่งของสินค้าให้เหมาะสม
  • ทำ Buyer Persona : Persona คือ แบบจำลองบุคคล ที่เป็นลูกค้าในอุดมคติของธุรกิจของคุณ  (คุณสามารถศึกษาเรื่อง Persona ได้ที่บทความของ Content Shifu ได้ที่นี่)

 

4.เลือก ทดสอบ และทำซ้ำ

สำหรับการสร้างกลยุทธ์การตลาดส่วนใหญ่ไม่มีทางสำเร็จได้ในครั้งแรก อย่าไปคาดหวังว่าคุณจะสามารถสร้างแคมเปญการตลาดเฉพาะกลุ่มแล้วจะบรรลุผลลัพธ์ที่คุณต้องการในทันที คุณต้องตรวจสอบแนวคิด ทบทวนผลลัพธ์ และปรับเปลี่ยนตามไปเรื่อยๆ

คุณอาจจะพบว่าความคิดแรกของคุณสำหรับการทำ Niche Marketing นั้นไม่ได้ผล แต่การปรับเปลี่ยนในภายหลังสามารถสร้างจุดที่น่าสนใจและสามารถดึงดูดลูกค้าเข้ามา จนทำให้ลูกค้าเหล่านั้นมีความภักดีต่อแบรนด์ของคุณตลอดไปได้

หนึ่งเครื่องมือที่ผมแนะนำสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาคือ

  • PDCA คือวงจรเรียนรู้ที่มาจากคำว่า PLAN – DO – CHECK – ACT เครื่องมือนี้จะช่วยในกระบวนการทดสอบแคมเปญการตลาดใหม่ได้เป็นอย่างดี

บทความที่เกี่ยวข้อง : PDCA คือ ทุกเรื่องควรรู้ในการใช้งาน Deming Cycle เพื่อปรับปรุงคุณภาพการผลิต

สรุป

การสร้าง Niche Market คือกลยุทธ์การทำตลาดที่เหมาะสมกับทั้งธุรกิจขนาดเล็กที่พึ่งเข้าตลาดมาไม่นานและกำลังหาจุดยืนให้ตัวเอง หรือแบรนด์ใหญ่ที่ต้องการสร้างเกาะกำบังเพื่อป้องกันคู่แข่งเจาะแย่งฐานลูกค้าของตนเองไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนสิ่งที่สำคัญไม่ใช่การทำเพื่อหาเงิน แต่ผมมองว่ามันคือการสร้างพื้นที่ที่แบรนด์กับลูกค้าจะมีความใกล้ชิดกัน เข้าใจจุดประสงค์หรือปัญหาของลูกค้าอย่างแท้จริงและเข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา ถูกคน ด้วยภาษาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด เมื่อทำแบบนี้ได้แล้วหมายความว่าธุรกิจของคุณทำ Niche Marketing ได้อย่างแข็งแรงจนเป็นที่รักของลูกค้า และเมื่อนั้นรายได้จะเข้ามาอย่างมั่นคงในที่สุดครับ

 

  • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
  • 1 / 234 / 5 / 6 / 7 

Copyright © GoodMaterial.co

You may also like

Copyright © 2023 สงวนสิทธิ์ทุกประการ Good Material