Public Relations คือ ทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับ การประชาสัมพันธ์

by goodmaterial

Public Relations คือ การประชาสัมพันธ์ที่มีขึ้นในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและรัฐบาลด้วย เพื่อสื่อสารและส่งสารสำคัญให้กับคนในสังคมทุกกลุ่ม หรือสาธารณชน และด้วยยุคปัจจุบันที่มีช่องทางประชาสัมพันธ์มากมายเช่นนี้ หลายองค์กรจึงให้ความสำคัญด้าน การประชาสัมพันธ์ หรือการทำ PR มากขึ้นกว่าในยุคก่อนที่มีเพียงสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์เท่านั้น Goodmaterial จึงได้สรุปว่า Public Relations คืออะไร แล้วองค์กรมีความจำเป็นต้องทำ PR หรือไม่ ?

 

PR : Public Relations คือ

PR ย่อมาจาก Public Relations คือ ตามคำจำกัดความของ J. Grunig และ Hunt’s ให้คำจำกัดความการประชาสัมพันธ์ที่อ้างถึงกันอย่างแพร่หลายมากที่สุด คือ “การจัดการการสื่อสารระหว่างองค์กรกับสาธารณชน (Grunig and Hunt (1984), p.4 ต้นฉบับ) เหตุผลที่คำจำกัดความนี้นำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็เพราะใช้คำอธิบายเพียงไม่กี่คำก็สามารถสื่อความหมายของการประชาสัมพันธ์ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนประกอบของคำจำกัดความการประชาสัมพันธ์ของ Grunig and Hunt มีดังนี้

  • การจัดการ (Management) เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการประสานกิจกรรมต่างๆขององค์กร เพื่อให้บรรลุประสิทธิผลด้วยวิธีการที่ดีที่สุด
  • การสื่อสาร (Communication) ไม่ใช่เพียงแค่ส่งสารไปยังผู้รับสารเท่านั้น แต่ต้องเป็นสารที่ให้ความเข้าใจแก่ผู้รับสารด้วย
  • องค์กร (Organization) กลุ่มใดๆที่จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจ บริษัท หน่วยงานของรัฐ หรือกลุ่มที่ไม่แสวงหาผลกำไร
  • สาธารณะ (Publics) หรือสาธารณชน เป็นกลุ่มคนใดๆที่รวมตัวกันโดยมีความสนใจร่วมกัน โดยพวกเขาไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้เสียใดๆกับองค์กรที่ทำการประชาสัมพันธ์ก็ได้

มีการให้คำจำกัดความของคำว่า การประชาสัมพันธ์ หรือ Public Relations ไว้อยู่เยอะมาก ซึ่งก็ไม่มีตำราไหนถูกหรือผิด เพราะวัตถุประสงค์ในการประชาสัมพันธ์ที่หลายๆองค์กรมุ่งเน้น ก็เพื่อการสื่อสาร พัฒนา และรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญซึ่งเป็นผู้รับสาร

โดยทั่วไปองค์กรอาจตั้งแผนกประชาสัมพันธ์ไว้โดยเฉพาะ (แผนกประชาสัมพันธ์ภายใน) หรือจ้างที่ปรึกษาจากภายนอกสำหรับงานใดงานหนึ่ง (แผนกประชาสัมพันธ์ภายนอก) ส่วนมากองค์กรหรือบริษัทใหญ่ๆก็จะมีแผนกประชาสัมพันธ์ทั้งสองรูปแบบ และจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการสื่อสารกับผู้คนมากมายมาแล้วหลายภาคส่วน

 

การประชาสัมพันธ์ มี 7 ประเภท

ประเภทของการประชาสัมพันธ์ หรือ Public Relations คือ

1. การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ 

การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ (Strategic communications) เป็นการพยายามสื่อสารเพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ส่วนใหญ่มักสื่อสารโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับลำดับความสำคัญของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับองค์กร และมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลขององค์กรด้วย เพื่อที่จะสื่อสารให้ตรงกับวัตถุประสงค์ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

2. สื่อสารมวลชนสัมพันธ์

สื่อสารมวลชนสัมพันธ์ (Media relations) จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานร่วมกับสื่อต่างๆ หรือการอาศัยสื่อเพื่อกระจายข้อความสำคัญไปยังกลุ่มเป้าหมาย (ทำหน้าที่เป็นแหล่งที่มาของเนื้อหาให้กับสื่อต่างๆ) ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์สามารถดึงดูดลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายให้รู้สึกสนใจได้ โดยการส่งข่าวประชาสัมพันธ์หรือการสัมภาษณ์ไปยังสื่อที่ช่วยให้องค์กรสามารถเข้าถึงผู้ชมที่ต้องการได้ เพราะนักข่าวหรือสื่อก็ต้องการกระแสข่าวที่สอดคล้องกันอยู่แล้ว ดังนั้นการสร้างเรื่องราวข่าวที่น่าสนใจระหว่างสื่อที่เกี่ยวข้องกับองค์กร จึงเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

 

3. ชุมชนสัมพันธ์

ชุมชนสัมพันธ์ (Community relations) บางครั้งการประชาสัมพันธ์อาจมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์เลือกช่องทางการสื่อสารไปยังชุมชนนั้นๆโดยตรง การมีส่วนร่วมกับชุมชนขององค์กรควรดำเนินการดังนี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อองค์กรเปิดโรงงานแห่งใหม่ การเข้าไปรับฟังฟีตแบคจากชุมชนในพื้นที่นั้น มีความสำคัญพอๆกับการสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนนั้นๆเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างชุมชนและองค์กร

 

4. การสื่อสารภายใน 

การสื่อสารภายใน (Internal communications) ได้กลายเป็นอีกหนึ่งประเภทที่หลายองค์กรหันมาโฟกัสมากขึ้น เพราะพนักงานในองค์กรอาจกลายเป็นผู้ให้การสนับสนุนหรือเป็นผู้ที่ติหรือวิจารณ์องค์กรได้ดีที่สุด การทำให้พวกเขาพึงพอใจ มีแรงบันดาลใจ และภักดีต่อองค์กร จึงมีความสำคัญต่อความสำเร็จโดยรวมขององค์กรด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ขององค์กร ควรมีกิจกรรมหรือโปรแกรมต่างๆ เพื่อให้พนักงานได้มีส่วนร่วม ถือเป็นความท้าทายขององค์กรในการเข้าไปทำความเข้าใจความต้องการหรือข้อกังวลของพนักงาน

 

5. การสื่อสารในภาวะวิกฤต

การสื่อสารในภาวะวิกฤต (Crisis communications) คงไม่อยากมีองค์กรไหนต้องทำการสื่อสารประเภทนี้ เพราะเป็นการสื่อสารที่มีขึ้นเมื่อองค์กรของคุณกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤต องค์กรควรใช้แนวทางที่วางแผนไว้และมีความสอดคล้องกันในการจัดการวิกฤต โดยต้องเป็นแผนการสื่อสารที่ชัดเจน และพึ่งพาผู้มีส่วนได้เสียที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นต่อกันกับองค์กร หรือพึ่งพาสื่อที่มีอยู่ในขณะนั้น การสื่อสารในภาวะวิกฤตเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและมีคุณค่าหากองค์กรผ่านมันไปได้ 

 

6. กิจการสาธารณะ

กิจการสาธารณะ (Public Affairs) ผู้ที่ทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ในกิจการสาธารณะ มีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับนักการเมือง รัฐบาล และผู้มีอำนาจตัดสินใจอื่นๆ ซึ่งผู้ที่ทำงานในกิจการสาธารณะจะให้ความสนใจเกี่ยวกับระบบการเมือง กระบวนการในการออกหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และยังให้ความช่วยเหลือต่อองค์กรต่างๆได้อย่างไม่น่าเชื่อ ผ่านการสื่อสารหรือการประชาสัมพันธ์ เช่น การให้องค์กรปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ การสื่อสารขององค์กร และสมาคมการค้า

หรือการเป็นตัวแทนของแบรนด์ต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามนโยบาย เช่น ความรับผิดชอบต่อสังคม การแข่งขันที่เป็นธรรม การคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองพนักงาน เป็นต้น

 

7. การสื่อสารออนไลน์และโซเชียลมีเดีย

การสื่อสารออนไลน์และโซเชียลมีเดีย (Online and social media communications) จำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจหรือองค์กรต่างๆต้องมีช่องทางออนไลน์ที่แข็งแกร่งเพื่อให้โดดเด่นกว่าคู่แข่ง อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่หันมาใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ออนไลน์ จึงมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างโอกาสทางการขาย และสร้างความสัมพันธ์กับแบรนด์ผ่านเว็บไซต์หรือช่องทางออนไลน์อื่นๆ

องค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ จึงต้องมีความเชี่ยวชาญในการเลือกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ดีที่สุด และช่องทางดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสื่อสารขององค์กรด้วย

 

ขั้นตอนของ การประชาสัมพันธ์

การประชาสัมพันธ์จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อมีการจัดการเชิงกลยุทธ์ หรือ การประชาสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ มุ่งเน้นเรื่องการบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่นำไปสู่เป้าหมายโดยรวมขององค์กร

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ (เนื้อหาที่ต้องการประชาสัมพันธ์), กลุ่มเป้าหมายของการประชาสัมพันธ์ (ใครเป็นผู้รับสาร), ผลที่คาดว่าจะได้รับและผลกระทบโดยรวมจากการประชาสัมพันธ์ โดยอาจเริ่มต้นการประชาสัมพันธ์ในลักษณะของ ข่าวประชาสัมพันธ์ หรือบล็อกกิจกรรม เป็นต้น

ขั้นตอนของการประชาสัมพันธ์ มักเริ่มต้นด้วยการวิจัยและจบลงที่การประเมินผลเสมอ มี 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. การวิจัยโครงสร้างเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ 

การวิจัย “คือ การรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่ออธิบายทำความเข้าใจสถานการณ์ ตรวจสอบสมมติฐานของสาธารณะ และผลที่ตามมาของการประชาสัมพันธ์” Cutlip, Center และ Broom (2006)

ขั้นตอนแรก คือ การวิเคราะห์ปัญหาหรือโอกาส เพื่อรวบรวมข้อมูลว่ากำลังเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น หรืออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด เป็นการช่วยกำหนดกลยุทธ์ที่เรียกว่า การวิจัยเชิงรูปแบบ (Formative Research)

ตัวอย่างเช่น บริษัทก๊าซธรรมชาติกำลังพิจารณาเส้นทางสำหรับท่อส่งใหม่ จึงต้องทำวิจัยเพื่อทำความเข้าใจว่า

  • โครงการอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคใดบ้าง
  • เป็นพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม หรือเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับโครงการหรือไม่
  • มีองค์กรที่อาจต่อต้านโครงการในพื้นที่นั้นหรือไม่
  • โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการขนส่ง มีประโยชน์หรือสนับสนุนประชาชนในภาพรวมอย่างไร
  • มีทางเลือกอื่นสามารถทำได้หรือไม่สำหรับการทำท่อส่ง, มีเส้นทางอื่นหรือไม่, ทางเลือกของขั้นตอนการขุดเจาะ, ระยะเวลาก่อสร้างที่อาจเป็นไปได้

เครื่องมือที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ คือ SWOT สามารถทำความเข้าใจอย่างละเอียดได้ที่นี่ SWOT คือ แนะนำหลักการใช้ SWOT Analysis ในการวิเคราะห์ธุรกิจ ซึ่งการใช้ SWOT วิเคราะห์สถานการณ์ก่อนการพัฒนากลยุทธ์ต่างๆ จะแบ่งสถานการณ์ออกเป็นปัจจัยภายในและภายนอกของสถานการณ์  ปัจจัยภายใน คือ จุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร ปัจจัยภายนอก คือ โอกาสและภัยคุกคามที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมขององค์กร

SWOT Analysis

หลังจากทำการวิเคราะห์ SWOT คุณจะสามารถจับคู่ปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก เพื่อนำเสนอกลยุทธ์ที่เป็นไปได้ ดังนี้

  • กลยุทธ์ SO มุ่งเน้นไปที่การใช้จุดแข็งขององค์กร เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสภายนอก
  • กลยุทธ์ ST ยังคงมุ่งเน้นที่การใช้จุดแข็งขององค์กร เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากภายนอก
  • กลยุทธ์ WO ระบุและปรับปรุงจุดอ่อนขององค์กรให้ดีขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ประโยชน์จากโอกาสภายนอก
  • กลยุทธ์ WT พยายามแก้ไขจุดอ่อนขององค์กร เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากภายนอก

     

    2. การวางแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์

    แผนกลยุทธ์ควรมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขหรือใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ โดยการนำปัญหาหรือโอกาสที่เกิดขึ้นตั้งเป็นเป้าหมาย และการกระทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ควรยืดหยุ่นได้หรือควรมีหลายทางเลือก เพราะเราไม่สามารถสั่งการหรือควบคุมความคิดของสาธารณชนได้

    การตั้งเป้าหมายก็เพื่อหาทิศทางของแผนกลยุทธ์ และการตั้งวัตถุประสงค์ก็เพื่อหาทิศทางของผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจงและสามารถวัดผลได้ โดยต้องมีกรอบเวลากำหนดและต้องบอกต่อสาธารณชนถึงผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับด้วย เพื่อเป็นการสร้างความรับผิดชอบให้กับองค์กรและสาธารณชนรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กร

    การตั้งวัตถุประสงค์ ควรเป็นวัตถุประสงค์ที่เพิ่มมูลค่าและเพิ่มคุณค่าโดยรวมให้กับองค์กร เช่น

    • เพิ่มยอดขาย
    • เพิ่มมูลค่าส่วนแบ่ง
    • ดูแลรักษาพนักงาน
    • ปรับปรุงความรับผิดชอบต่อสังคม
    • ลดการฟ้องร้อง

    เมื่อกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ได้แล้วจึงหันมาให้ความสนใจกับ วิธีการหรือกลยุทธ์ ดังนี้

    • ขั้นแรก ระบุสิ่งที่พยายามจะทำให้สำเร็จตรงความต้องการของสาธารณชน (ผูกกลยุทธ์เข้ากับวัตถุประสงค์) แต่สิ่งที่ทำให้การประชาสัมพันธ์มีกลยุทธ์ คือ มีการดำเนินการที่เชื่อมโยงกับความต้องการที่แท้จริงขององค์กรด้วย
    • ขั้นที่สอง แบ่งกลุ่มผู้รับสารโดยพิจารณาจากลักษณะทั่วไป เช่น เพศ ระดับการศึกษา ถิ่นอาศัย ค่านิยมหรือไลฟ์สไตล์ การแบ่งกลุ่มบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้คุณสามารถระบุความสนใจของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น 
    • ขั้นที่สาม สร้างกลยุทธ์การสื่อสารโดยมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ของสาธารณชน เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจจากพวกเขา จากนั้นคุณจะสามารถสร้างข้อความหลักเพื่อเป็นแนวทางในการสื่อสารได้
    • ขั้นที่สี่  ระบุช่องทางหรือสื่อที่ใช้ในการประชาสมพันธ์ที่จะทำให้คุณสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้

    ความท้าทายของการสร้างกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ คือ การแข่งขันเพื่อดึงดูดความสนใจจากสาธารณชน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องมีการประเมินขั้นตอนหรือวิธีการของกลยุทธ์นั้นๆอยู่เสมอ เพื่อนำไปพัฒนาข้อความ การออกแบบ และกิจกรรมที่สร้างสรรค์ต่อไป

     

    3. การสื่อสารให้บรรลุผล

    “การกระทำดังกว่าคำพูด (Actions speak louder than words)” จากสุภาษิตดังกล่าว บางครั้งองค์กรจำเป็นต้องดำเนินการหรือตอบสนองบางอย่างก่อนจึงจะสามารถสื่อสารออกไปได้ และองค์กรไม่ควรคาดหวังให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำตามทางที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรเท่านั้น บางครั้งองค์กรจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการกระทำและพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ที่สำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียก่อน 

    ยังมีอีก 2 องค์ประกอบเพิ่มเติม ที่ต้องนำมาใช้ประมวลผลในระหว่างขั้นตอนการประชาสัมพันธ์ คือ ปฏิทินวางแผน และ งบประมาณ 

    ปฏิทินวางแผน ให้สร้างปฏิทินเพื่อการวางแผน เช่น แผนภูมิแกนต์ (Gantt chart) แผนภูมิแกนต์ คือ ผังงานแนวนอนที่ทำให้เห็นภาพว่างานควรเริ่มต้นและสิ้นสุดเมื่อใดเมื่อเทียบกับงานอื่น ๆ ทั้งหมด

    งบประมาณ ควรกำหนดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและการดำเนินกลยุทธ์เพื่อการประชาสัมพันธ์นั้นด้วย และควรเลือกกลยุทธ์ที่จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากที่สุด

     

    4. การประเมินผล 

    หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่า ต้องทำการประเมินหรือวัดผลเมื่อโครงการหรือแคมเปญสิ้นสุดแล้วเท่านั้น การประเมินและการวัดผลควรเกิดขึ้นอยู่เสมอ คุณต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่า ข้อความที่สื่อสารไปเข้าถึงผู้รับสารหรือกลุ่มเป้าหมายของคุณหรือไม่ ที่เรียกว่า โอกาสในการมองเห็น หรือ OTS (Opportunities-to-see) หากกลยุทธ์ไม่ได้ผล ก็จำเป็นต้องมีการแก้ไขในช่วงกลางของโปรแกรมไม่ใช่หลังจากโปรแกรมเสร็จสิ้นแล้ว 

    4 ขั้นตอนของ การประเมินผล มีดังนี้

    • กำหนดเกณฑ์มาตรฐานของคุณ
    • เลือกเครื่องมือวัดผล
    • วิเคราะห์ สรุปข้อมูลที่นำไปใช้ได้จริง พร้อมให้คำแนะนำ
    • ทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และวัดผลอีกครั้ง

    การวัดผลด้านทัศนคติและความคิดเห็น เครื่องมือที่ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน คือ การทำแบบสำรวจ การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะและการสำรวจทัศนคติ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของคุณ และพิจารณาว่าข้อความหรือพฤติกรรมขององค์กรมีผลตามที่ได้ตั้งใจไว้หรือไม่

    การวัดผลด้านพฤติกรรมเมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน อาจดูได้จากการรักษาจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้น มีการบริจาคที่เพิ่มขึ้น หรือการเพิ่มยอดขายและการลงทุน แต่บ่อยครั้งการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมนี้อาจเกิดจากตัวแปรอื่นๆได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแยกแยะและติดตามผลกระทบของความพยายามในการประชาสัมพันธ์แต่ละครั้ง เพื่อประเมินว่าความพยายามในการประชาสัมพันธ์ครั้งนั้นเป็นแรงผลักดันในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจริงหรือไม่

     

    ข้อดี-ข้อเสียของ Public Relations คือ

    ข้อดี มีดังนี้

    • ความน่าเชื่อถือ : สาธารณชนมักเชื่อถือข้อความประชาสัมพันธ์ หรือข้อความที่มาจากบุคคลที่สามมากกว่าเนื้อหาโฆษณา
    • การเข้าถึง : กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ที่ดี สามารถดึงดูดสื่ออื่นๆเพื่อนำเนื้อหาไปนำเสนอหรือเผยแพร่ต่อได้เป็นจำนวนมาก
    • ลดต้นทุน : การประชาสัมพันธ์ เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่คุ้มค่าในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เมื่อเทียบกับการโปรโมตแบบเสียค่าใช้จ่าย
    • การสื่อสารที่ดีขึ้น : การประชาสัมพันธ์ ช่วยให้บริษัทสามารถสื่อสารข้อมูลสู่สาธารณะได้มากกว่าสื่อการสื่อสารในรูปแบบอื่น

    ข้อเสีย มีดังนี้

    • ไม่มีการควบคุมโดยตรง : แตกต่างจากสื่อแบบชำระเงินตรงที่ ไม่มีการควบคุมเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านสื่อได้โดยตรง ซึ่งนี่คือความเสี่ยงที่สุดของการลงทุนในการประชาสัมพันธ์
    • ยากที่จะวัดผลความสำเร็จ : เป็นการยากกว่าในการวัดและประเมินประสิทธิภาพของการประชาสัมพันธ์
    • ไม่สามารถรับประกันผลได้ : ไม่รับประกันการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ เนื่องจากแบรนด์หรือองค์กรไม่ต้องจ่ายเงินให้กับสื่อ สื่อจึงจะเผยแพร่เฉพาะในกรณีที่รู้สึกว่าเนื้อหาสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้เท่านั้น 

    อย่างไรก็ตามเราทราบดีว่า การประชาสัมพันธ์ และ การโฆษณา จะสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ การระลึกถึงแบรนด์ หรือกระตุ้นการซื้อได้ แต่เนื้อหาการประชาสัมพันธ์จะให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในระดับที่ดีกว่า และมีการประเมินค่าผลิตภัณฑ์ไปในเชิงบวกมากกว่าการโฆษณา

     

    สรุป

    นักประชาสัมพันธ์ที่ดีจะต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า “ฉันรู้อะไรเกี่ยวกับสถานการณ์นี้บ้าง” (การวิเคราะห์สถานการณ์), “ฉันต้องการทำอะไรให้สำเร็จกับข้อความประชาสัมพันธ์ของฉัน” (เป้าหมายและวัตถุประสงค์), “ฉันจะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้อย่างไรกับข้อความประชาสัมพันธ์ของฉัน” (กลยุทธ์) และ “ฉันจะพูดอะไรดี” (ชั้นเชิง) กระบวนการเหล่านี้ควรได้รับการปลูกฝังหากคุณต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และเป็นนักสื่อสารเชิงกลยุทธ์ขององค์กร

     

    Copyright © GoodMaterial.co

    • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
    • ข้อมูลอ้างอิง : 1 / 23 / 4 / 5

    You may also like

    Copyright © 2023 สงวนสิทธิ์ทุกประการ Good Material