Original Equipment Manufacturer คือ เรื่องควรรู้ของ OEM

by goodmaterial
Original Equipment Manufacturer คือ

ใครที่กำลังจะมีแบรนด์ อยากจะสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง หรืออยากผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มักคุ้นเคยและรู้จักกับ OEM ซึ่งย่อมาจาก Original equipment manufacturer คือ บริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์หนึ่ง แล้วมีอีกบริษัทนำผลิตภัณฑ์นั้นไปเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ของพวกเขาภายใต้ชื่อแบรนด์ของพวกเขาเอง ซึ่งแบรนด์ที่เราคุ้นหูส่วนใหญ่ก็มักดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ Goodmaterial จึงได้รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับ OEM ในแบบฉบับสมบูรณ์ที่สุดไว้ที่นี่ครับ

 

OEM : Original equipment manufacturer คือ

เป็นลักษณะธุรกิจรูปแบบหนึ่ง OEM : Original equipment manufacturer คือ บริษัทที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ซื้อซึ่งเป็นอีกบริษัทหนึ่ง แล้วผู้ซื้อก็นำไปใช้เป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ของตนและนำไปขายให้กับลูกค้าภายใต้ชื่อแบรนด์ของพวกเขาเอง หรือผู้ซื้อที่เป็นบริษัทค้าปลีกที่ขายตรงให้กับลูกค้า ซึ่ง OEM มักจะพบเห็นในอุตสาหกรรมรถยนต์และคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป Lenovo ไม่ได้ผลิตโดย Lenovo ทั้งหมด ชิ้นส่วนบางอย่างเช่น โปรเซสเซอร์หรือโมดูลหน่วยความจำอาจเป็นผลิตภัณฑ์จาก OEM

เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท OEM หนึ่งผลิตการ์ดหน่วยความจำ โดยพวกเขาจะไม่ผลิตการ์ดหน่วยความจำเพียงประเภทเดียว แต่จะมีหลายประเภทให้ผู้ซื้อได้เลือก

 

ประโยชน์บางประการของการซื้อผลิตภัณฑ์จาก OEM คือ

1.คุณภาพดี เพราะท้ายที่สุดผลิตภัณฑ์ที่คุณเลือกซื้อจาก OEM บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโรงงานเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นรุ่นที่ถูกกว่ากันก็ตาม

2.ทนทาน นอกจากได้คุณภาพที่ดีแล้ว ผลิตภัณฑ์ยังมีความทนทานอีกด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อซื้อยางอะไหล่ โดยทั่วไปแล้วยางจาก OEM โดยตรงจะดีกว่าการซื้อยางจากตลาดหลังการขาย (After Market) เนื่องจากสามารถมั่นใจถึงวัสดุที่ใช้ในการผลิตได้

3.อายุการใช้งาน ผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนจาก OEM มักมีอายุการใช้งานนานกว่าผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนจากตลาดหลังการขาย (After Market)

 

OEM vs After Market

After Market คือ ชิ้นส่วนทดแทนที่ไม่ได้ผลิตโดยผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิม ใช้เพื่อนำมาเปลี่ยนชิ้นส่วนดั้งเดิมที่ชำรุดเสียหาย กล่าวคือ ในขณะที่ OEM จะผลิตผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม แต่ในทางกลับกัน After Market จะผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนกันและสามารถทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่มาจาก OEM ได้ สรุปคือ After Market จะเป็นคนละบริษัทกับบริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมนั้น ซึ่งผลิตภัณฑ์จะไม่ได้เหมือนของดั้งเดิมทุกประการแต่มักจะใกล้เคียง โดยพื้นฐานแล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์รุ่นทั่วไปของผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม

และชิ้นส่วนทดแทนที่ไม่ได้รับการอนุมัติจาก OEM ให้ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่มาจาก OEM ซึ่งอาจมีราคาที่ถูกกว่าก็จริง แต่ก็ไม่รับประกันว่าจะใช้งานได้เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่มาจาก OEM หรือไม่

 

OEM vs Value-Added Reseller (VAR)

Value-Added Reseller หรือ VAR คือ บริษัทตัวแทนจำหน่ายที่ขายผลิตภัณฑ์จาก OEM ซึ่งได้มีการ เพิ่มเติมคุณสมบัติหรือเพิ่มมูลค่า บางอย่างเข้าไปให้กับสินค้าเดิมก่อนขายผลิตภัณฑ์นั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยทั้งสองบริษัทจะมีความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจาก VAR ช่วย OEM ขายผลิตภัณฑ์ของพวกเขา และ OEM ก็มอบความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ของพวกเขาให้กับ VAR เพื่อนำไปขาย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่าง OEM ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แต่ละชิ้นกับ Sony หรือ Samsung ที่จะนำชิ้นส่วนเหล่านั้นไปประกอบเพื่อสร้าง HDTV

แต่ OEM บางรายก็จะผลิตผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์เพื่อให้ VAR นำไปขายได้เลย ซึ่งพวกเขาจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดผลิตภัณฑ์ที่จะนำออกขายสู่ตลาดของบริษัท VAR เช่น ความสัมพันธ์ระหว่าง OEM ผู้ผลิตกระดุมหรือที่กลัดขนาดเล็กปรับแต่งด้วยตัวอักษร RL ซึ่งขายให้กับ Ralph Lauren ซึ่งปกติผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจะออกภายใต้ชื่อแบรนด์ของ VAR ดังนั้น OEM จึงไม่มีบทบาทสำคัญในผลิตภัณฑ์

OEM มุ่งเน้นไปที่การขายแบบธุรกิจต่อธุรกิจ ในขณะที่ VAR จะขายให้กับสาธารณะหรือผู้ใช้ปลายทางอื่น ๆ 

 

OEM vs Original Design Manufacturer (ODM)

ในปัจจุบัน Original Design Manufacturer หรือ ODM เป็นอีกลักษณะที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน การผลิตลักษณะนี้มักเรียกอีกอย่างว่า การติดแบรนด์ส่วนตัว (Private labeling) มักเป็นการติดต่อผู้ผลิตที่มีผลิตภัณฑ์อยู่แล้วอาจผ่านทางเว็บไซต์อย่าง Alibaba และคุณกำหนดให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีตราสินค้าและข้อมูลแบรนด์ของคุณ บางครั้งคุณสามารถขอแก้ไขได้โดยซัพพลายเออร์จำนวนมากก็พร้อมที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยให้ เช่น ขนาดผลิตภัณฑ์ สี และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น 

แหล่งยอดนิยมในการค้นหาผู้ผลิต ODM ในเอเชีย คือ Alibaba.com, Aliexpress.com, GlobalSources.com และ Made-In-China.com โดยปริมาณการสั่งซื้อขั้นต่ำจะน้อยกว่าลักษณะ OEM จึงได้รับความนิยมในกลุ่มนักธุรกิจมือใหม่ที่อาจจะมีทุนไม่มากนัก

 

ลักษณะอื่นๆของ Original equipment manufacturer คือ

1.OEM สำหรับผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์

สามารถอธิบายให้เห็นภาพจากแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักระดับสากล ทำการซื้อส่วนประกอบจากบริษัท OEM อื่น ๆ เพื่อนำไปขายระบบที่สมบูรณ์ภายใต้แบรนด์ของพวกเขา เช่น HP Inc., Dell EMC และ Hewlett Packard Enterprise บริษัทเหล่านี้จัดหาไมโครโปรเซสเซอร์ ฮาร์ดไดรฟ์ และอุปกรณ์จากบริษัท OEM ในฐานะบริษัท OEM ส่วนประกอบที่นำเสนอขายให้บ่อยที่สุดจะเป็น ฮาร์ดไดรฟ์ ออปติคัลไดรฟ์ และการ์ดเอ็กซ์แพนชัน PCI บางประเภท

อย่างไรก็ตามฮาร์ดแวร์มักจะไม่ได้มาพร้อมกับส่วนประกอบที่มีความสำคัญต่อการทำงานของฮาร์ดแวร์ อย่างเช่น การ์ดแสดงผล หรือฮาร์ดไดรฟ์จากบริษัท OEM มักไม่ได้มาพร้อมกับสายเคเบิลหรืออะแดปเตอร์ที่จำเป็นสำหรับการใช้งาน

 

2.OEM สำหรับผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์

บริษัทซอฟต์แวร์ขายผลิตภัณฑ์ในแบบ OEM ให้กับบริษัท OEM ฮาร์ดแวร์ขนาดใหญ่ หรือผู้สร้างระบบขนาดเล็กที่รวมซอฟต์แวร์ไว้ในผลิตภัณฑ์ที่ขาย โดยซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งไว้ในผลิตภัณฑ์หรือซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมผลิตภัณฑ์อย่างเช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก พีซี ฯลฯ ถือว่าเป็นซอฟต์แวร์จาก OEM ตัวอย่างซอฟต์แวร์จาก OEM ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตัวอย่างหนึ่งคือ Windows

ซอฟต์แวร์ OEM มักจะได้รับใบอนุญาตแบบระบบต่อระบบ หมายความว่า สามารถติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ได้เครื่องใดเครื่องหนึ่งเท่านั้นและไม่สามารถติดตั้งบนคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้ อย่าง Windows เวอร์ชัน OEM จะเชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์ที่คุณติดตั้งไว้เท่านั้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ OEM อาจมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า แต่อาจต้องซื้อซอฟต์แวร์ใหม่อีกครั้งหากคุณต้องการเปลี่ยนพีซีหรืออัปเกรดเมนบอร์ดและอื่น ๆ

 

3.OEM ขายใบอนุญาต

โดยทั่วไปแล้วบริษัท OEM จะขายใบอนุญาตผลิตภัณฑ์สำหรับการใช้ชิ้นส่วนของตนให้กับผู้ค้าปลีกที่มีมูลค่าเพิ่ม Value-Added Resellers (VAR) ที่พวกเขาทำการตลาด ซึ่ง OEM ผู้ขายใบอนุญาตจะให้ข้อมูลและแนวทางทั่วไปในการใช้ตราสินค้าหรือเครื่องหมายการค้าของพวกเขา หลักเกณฑ์เหล่านี้จะพยายามระบุถึงการใช้เครื่องหมายการค้าอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในบริบททางการตลาดและการสื่อสารต่างๆ นอกจากนี้ยังกำหนดถึงสิ่งที่ถือเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าด้วย เหมือนการทำงานเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกันกับบริษัท OEM

 

ข้อดี-ข้อเสียของการผลิตจาก OEM คือ

ข้อดี

  • ได้ผลิตภัณฑ์ที่คุ้มค่า การผลิตจาก OEM คุณจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนต่ำสุด และได้รับประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนต่อขนาด เนื่องจากซัพพลายเออร์จะผลิตสินค้าจำนวนมากเพื่อนำออกขายและมีลักษณะคล้ายกับสินค้าอื่นๆ
  • ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจะได้รับการทดสอบเฉพาะตามมาตรฐานที่เข้มงวดของบริษัท OEM และเพื่อให้แน่ใจว่าตรงกับข้อกำหนดที่แน่นอนระหว่างบริษัท OEM และบริษัทคู่ค้าด้วย จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานแน่นอน
  • มีเทคโนโลยีเฉพาะ บริษัท OEM มักจะมีเทคโนโลยีที่ใช้งานได้หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ในฐานะลูกค้าคุณก็จะได้รับประโยชน์จากการผลิตผลิตภัณฑ์นั้นด้วย
  • เครื่องหมายการค้า/ทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากบริษัทของคุณออกแบบส่วนประกอบต่างๆของผลิตภัณฑ์แล้วสั่งผลิต เครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและการผลิตผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น จึงถือเป็นสิทธิของคุณ
  • บริการระดับมืออาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิต OEM จะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อสามารถรองรับความต้องการสินค้าบางประเภทได้ด้วย ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะต้องเก่งมากพอเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าให้ได้มากที่สุด อีกทั้งพวกเขายังมีความเชี่ยวชาญในการผลิตผลิตภัณฑ์หรือส่วนประกอบที่บริษัทอื่นต้องใช้ เพราะพวกเขาต้องผลิตอยู่เป็นประจำ จำนวนมาก และเฉพาะทางอยู่แล้ว

 

ข้อเสีย

  • เสี่ยงต่อการถูกละเมิด เนื่องจากคุณได้สร้างและออกแบบส่วนประกอบต่างๆของผลิตภัณฑ์แล้วนำไปสั่งผลิต จึงมีความเสี่ยงอย่างแน่นอนที่อาจจะถูกละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) ของคุณจากคู่แข่ง
  • สินค้าอาจไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย บริษัท OEM ส่วนใหญ่ชอบที่จะทำธุรกิจกับบริษัทที่สามารถสร้างความต้องการในผลิตภัณฑ์ได้มาก หรือบริษัทที่มียอดการสั่งผลิตจำนวนมาก ในกรณีที่บริษัทของคุณสั่งผลิตในจำนวนที่น้อย อาจเนื่องมาจากการสร้างความต้องการในผลิตภัณฑ์นั้นได้น้อย บริษัท OEM บางแห่งก็อาจจะไม่รับผลิต จึงอาจทำให้สินค้าไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายได้

 

สรุป

บริษัท OEM จึงเป็นอีกหนึ่งคู่ค้าสำคัญในการทำธุรกิจ ซึ่งคุณจะเห็นว่าข้อดีของการผลิตจากบริษัท OEM มีอยู่มาก การผลิตแบบ OEM จะทำให้บริษัทของคุณมีเวลามากขึ้น เพื่อที่จะได้ไปมุ่งเน้นการดำเนินงานหลักของคุณในด้านอื่นๆ โดยทั่วไปการจ้างการผลิตแบบ OEM จะให้ประสิทธิภาพแก่บริษัทในด้านต่างๆ ทั้งราคาที่ต่ำกว่า คุณภาพที่สูงขึ้น และได้ผลิตภัณฑ์เฉพาะทาง แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการทำการตลาดที่แข็งแกร่งจนผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของลูกค้าเพื่อนำไปสู่การสั่งผลิตต่อไปนั่นเอง 

เพื่อการทำการตลาดอย่างแข็งแกร่ง Goodmaterial ขอแนะนำบทความการตลาดต่อไปนี้ :

Segmentation Targeting Positioning คือ ทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับ STP Marketing

[CRM] Customer Relationship Marketing คือ หลักการตลาดเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า

 

Copyright © GoodMaterial.co

  • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
  • ข้อมูลอ้างอิง : /1 / 2 / 34 / 5 /6 / 7

You may also like

Copyright © 2023 สงวนสิทธิ์ทุกประการ Good Material