ประกันชีวิต คือ รู้จักประกันชีวิตฉบับเข้าใจง่าย

by goodmaterial
ประกันชีวิต

ไม่ว่าจะเป็นประกันประเภทใด เรามั่นใจว่าทุกคนรู้และเข้าใจว่าการทำประกันเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ และคุ้มค่ากับชีวิตทุกชีวิต ต่ทำไมหลายคนถึงยังกลัวการทำประกัน ? Goodmaterial จะมาอธิบาย แสดงความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจแบบง่าย ๆให้กับทุกคนในเรื่องของ ประกันชีวิต แน่นอนว่าประกันเป็นเรื่องของการสร้างความสบายใจให้กับผู้ทำประกัน แต่ความสบายใจนั้นก็ต้องแลกมากับการจ่ายเบี้ยประกันที่ถือเป็นปัจจัยหลักอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หลาย ๆคนยังไม่ตัดสินใจทำประกัน

 

ประกันชีวิต คือ 

ประกันชีวิต (Life Insurance) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า สมาคมประกันชีวิตไทยได้สรุปคำจำกัดความของการประกันชีวิตว่าหมายถึง การชดเชยรายได้ที่ต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากความตาย ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือชราภาพ โดยบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต

และความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 อธิบายประกอบกับมาตรา 889 ประกันชีวิต หมายถึง สัญญาซึ่งผู้รับประกันชีวิตตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้เมื่อมีเหตุในอนาคตดังระบุไว้ในสัญญา กล่าวคือ เมื่อผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตมรณะลงภายในเวลาตามที่ตกลงกันไว้ หรือเมื่อผู้นั้นยังทรงชีพอยู่จนถึงเวลาตามที่ได้ตกลงกันไว้ และในการนี้ผู้เอาประกันชีวิตตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันชีวิต

สรุปง่าย ๆคือ ประกันชีวิต เป็นสัญญาฉบับหนึ่งหรือที่เรียกว่า กรมธรรม์ประกันชีวิต ที่เราทำกับบริษัทขายประกัน โดยมีข้อตกลงหลัก ๆว่า บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้แก่คุณหรือแก่ผู้รับผลประโยชน์ตามจำนวนเงินที่ได้ระบุไว้ในสัญญาประกันชีวิต ที่เรียกว่า เงินเอาประกันภัย ในกรณีที่คุณมีชีวิตอยู่ครบตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประกันชีวิต หรือกรณีที่คุณเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประกันชีวิตนั้น โดยคุณก็จะต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งหรือที่เรียกว่า เบี้ยประกันภัย ให้กับบริษัทขายประกันนั้นด้วยเช่นกัน

 

ประกันชีวิต มีกี่แบบ ?

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง” หากพิจารณาตามหลักกฎหมายนี้จะเข้าใจได้ว่า การที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินประกันให้กับเรานั้น บริษัทประกันจะพิจารณาเรื่องการมีชีวิตอยู่ครบตามสัญญาประกันชีวิต หรือการเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญาประกันชีวิต ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขหลักในการจ่ายเงินประกันของบริษัทประกันทุกบริษัท

แต่โดยปกติแล้ว นายหน้าประกัน หรือ ตัวแทนประกัน จะทำการเสนอประกันชีวิตแบบพื้นฐานให้กับเรา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบ แต่ละแบบก็จะมีเงื่อนไขทั้งความคุ้มครองและผลโยชน์ที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับบริษัทประกันนั้น ๆด้วย

1.ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา

เป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองในระยะเวลาจำกัด เช่น 10 ปี, 20 ปี โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินประกันให้กับผู้รับผลประโยชน์ หากเราเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญาประกันชีวิตนั้น ซึ่งกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบใดก็ตามที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป (ทำประกันชีวิต 10 ปีขึ้นไป) สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท (นำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ในปีต่อไป) นายหน้าหรือตัวแทนประกันจึงมักเสนอประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลานี้ที่ความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป เพื่อให้เราได้รับความคุ้มค่ามากที่สุดนั่นเอง

  • ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาจึงเหมาะสำหรับผู้หารายได้หลักหรือเป็นเสาหลักของครอบครัว และสำหรับผู้ที่ไม่อยากจ่ายเบี้ยประกันเยอะแต่อยากได้รับความคุ้มครองนาน ๆ
  • ข้อเสียของประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาก็คือ หากพ้นระยะเวลาที่ทำประกันนี้แล้วเรายังมีชีวิตอยู่ เราก็จะไม่ได้เงินประกันคืนเลย หรือที่เรียกกันว่าเป็น เบี้ยทิ้ง เท่ากับว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปถือเป็นการซื้อความคุ้มครองในชั่วระยะเวลานั้น

 

2.ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ

เป็นประกันชีวิตแบบคุ้มครองไปตลอดชีวิต (จนถึงอายุ 90-99 ปี) โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินประกันให้กับผู้รับผลประโยชน์ หากเราเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญาประกันชีวิต หรือหากเรามีชีวิตอยู่ครบตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประกันชีวิตก็ยังได้เงินประกันคืนอีกด้วย จึงไม่ถือว่าเป็นเบี้ยทิ้ง แต่ประกันชีวิตแบบตลอดชีพนี้จะมีระยะเวลาในการจ่ายเบี้ยประกันที่ยาวกว่าประกันชีวิตแบบอื่น

  • ประกันชีวิตแบบตลอดชีพเหมาะสำหรับผู้ที่มีกำลังในการจ่ายค่าเบี้ยประกัน และผู้ที่อยากได้รับความสบายใจหากคุณเสียชีวิตไปก็ยังมีเงินก้อนส่วนนี้ไว้ให้คนข้างหลังได้ใช้อย่างแน่นอน

 

3.ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

เป็นประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะเพียงแค่ชื่อเรียกของมันหลายคนก็รู้สึกถึงความคุ้มค่าแล้ว ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นการรวมเอาเรื่องการให้ความคุ้มครอง การสะสมทรัพย์ และการลงทุนมาอยู่ในสัญญาประกันชีวิตนี้ คือ

  • ความคุ้มครอง 

เราจะได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประกันชีวิต ซึ่งจะมีให้เลือกระยะเวลาความคุ้มครองทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินประกันให้กับเราก็ต่อเมื่อ เรามีชีวิตอยู่ครบตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประกันชีวิต หรือจ่ายเงินประกันให้กับผู้รับผลประโยชน์ หากเราเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญาประกันชีวิตนี้

  • การสะสมทรัพย์

เบี้ยประกันที่เราจ่ายไปเป็นเหมือนการออมเงินอย่างหนึ่ง แต่เราจะไม่สามารถถอนเงินส่วนนี้ออกมาใช้ได้แบบการออมเงินทั่ว ๆไป (แต่สามารถเวนคืนกรมธรรม์ได้) หากเรายกเลิกสัญญาประกันชีวิตนี้ก่อนจะครบกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ เราก็จะไม่ได้เบี้ยประกันคืนแบบเต็มจำนวนหรืออาจจะไม่ได้คืนเลย

  • การลงทุน

การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เราจะได้ในส่วนของผลตอบแทนหรือเงินปันผลคืนมาพร้อมกับเบี้ยประกันด้วย คือเราจะได้รับเบี้ยประกันและเงินปันผลคืนพร้อมกันเป็นเงินก้อนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาประกันชีวิต โดยเราจะต้องพิจารณาเรื่องอัตราผลตอบแทน IRR (Internal Rate of Return) ของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ประกอบด้วย

 

  • ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เหมาะสำหรับผู้ต้องการลงทุนและไม่อยากรับความเสี่ยงด้านการลงทุน เพราะการลงทุนในรูปแบบอื่นอาจมีความเสี่ยงมากกว่า เช่น หุ้น กองทุน บิทคอยน์ เป็นต้น
  • เนื่องจากเป็นประกันที่เน้นเรื่องการสะสมทรัพย์และการลงทุน เงินประกันที่ได้จึงไม่สูงเมื่อเทียบกับการทำประกันชีวิตแบบอื่นในสัดส่วนของการจ่ายเบี้ยประกันในจำนวนเท่ากัน

 

4.ประกันชีวิตแบบบำนาญ

ถือเป็นการวางแผนออมเงินในระยะยาวอย่างมีระเบียบวินัยเพื่อวัยเกษียณ เป็นประกันชีวิตที่จะให้ความคุ้มครองเมื่อเราถึงวัยเกษียณ (เมื่ออายุ 55-65 ปี) เราจะสบายใจได้ว่าเมื่อเราเกษียณอายุไปหรือไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว เราก็จะยังมีเงินจากประกันชีวิตแบบบำนาญนี้ไว้ใช้อย่างแน่นอน หรือเรียกว่าเป็น เงินบำนาญ

ประกันชีวิตแบบบำนาญมีลักษณะคล้ายกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ แต่ประกันชีวิตแบบบำนาญนี้ไม่ว่าเราจะเริ่มทำประกันตอนอายุเท่าไหร่ บริษัทประกันก็จะเริ่มจ่ายเงินคืนพร้อมผลประโยชน์เมื่อเราถึงวัยเกษียณเท่านั้น (เมื่ออายุ 55-65 ปี) โดยบริษัทประกันจะทยอยคืนเงินให้กับเราไปจนกว่าจะครบกำหนดสัญญาประกันชีวิตนี้ ซึ่งการทยอยคืนเงินให้นั้น บริษัทประกันทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยบริหารการใช้เงินของเราในวัยเกษียณนั่นเอง

ในส่วนของความคุ้มครองไม่ว่าจะเป็นกรณีเสียชีวิตก่อนหรือหลังวัยเกษียณ บริษัทประกันก็จะคำนวณเพื่อเวนคืนเบี้ยประกัน หรือคำนวณเงินชดเชยคืนให้กับผู้รับผลประโยชน์หรือคนในครอบครัวเราด้วย

  • ประกันชีวิตแบบบำนาญจึงเป็นประกันที่สร้างความสบายใจให้กับคนที่มีความกังวลว่า เมื่อเราเกษียณไปแล้วจะเอาเงินที่ไหนใช้ หรือไม่รู้จะวางแผนทางการเงินอย่างไรหากเราอยู่ในวัยเกษียณ

 

ใครควรทำประกันชีวิต ?

คุณจำเป็นต้องทำประกันชีวิตหากคุณ

  • มีผู้อยู่ในอุปการะ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง สามี ภรรยา ลูก เป็นต้น
  • มีผู้ที่ยังต้องพึ่งพารายได้จากคุณ เพื่อใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีผู้ที่ยังต้องพึ่งพารายได้จากคุณ เพื่อใช้หนี้
  • คุณไม่สามารถพึ่งพารัฐบาลในการดูแลครอบครัวของคุณได้
  • คุณต้องการให้ครอบครัวมีเงินตั้งตัวหากคุณเสียชีวิตไป
  • ตัวคนเดียว ไม่มีคนคอยดูแลหากถึงวัยเกษียณ

คุณไม่จำเป็นต้องทำประกันชีวิตก็ได้หากคุณ

  • คุณมีรายได้น้อย และอาจมีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากรัฐบาลเพียงพอแล้ว

 

ข้อควรรู้ก่อนทำประกันชีวิต

คุณเหมาะกับประกันชีวิตแบบใด

หากพิจารณาเพียงกรณีที่จะทำประกันชีวิต การเลือกว่าจะทำประกันชีวิตแบบใดใน 4 แบบข้างต้นที่เราได้อธิบายไปแล้วนั้น นายหน้าหรือตัวแทนประกันมักจะถามเราว่า สนใจวางแผนทางการเงินด้านใดมากที่สุด ซึ่งสิ่งที่เราต้องคิดและพิจารณาต่อก็คือ

  • เราเห็นความสำคัญของอะไรเป็นอันดับแรกในชีวิตของเรา
  • รายได้และค่าใช้จ่ายหลัก ๆของเราเป็นอย่างไร

หลายคนมักตอบว่า อยากซื้อประกันไว้ลดหย่อนภาษี ซึ่งอาจเป็นคำตอบที่ยังไม่เพียงพอ เพราะประกันทุกแบบทุกประเภทสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อยู่แล้ว ดังนั้นการตั้งคำถามข้างต้นให้กับตัวเองก็เพื่อเป็นการสำรวจความต้องการพื้นฐานที่แท้จริงของเรา ไปพร้อม ๆกับความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันด้วย แล้วเราจะได้คำตอบว่าประกันชีวิตแบบใดเหมาะสมกับเรามากที่สุด

 

ซื้ออย่างไรให้คุ้ม

ซื้อประกันชีวิตอย่างไรให้คุ้ม ขึ้นอยู่กับการวางแผนทางการเงินในชีวิตของเราเป็นหลัก เรามองว่าการซื้ออย่างไรให้คุ้มมีความเชื่อมโยงกับเรื่อง คุณเหมาะกับประกันชีวิตแบบใด เพราะความคุ้มของแต่ละคนก็ย่อมไม่เท่ากันอยู่แล้ว ประกันชีวิตแต่ละแบบก็มีความคุ้มในแต่ละด้านที่แตกต่างกันออกไป บางแบบคุ้มในเรื่องของการให้คุ้มครองที่สูง บางแบบก็คุ้มในเรื่องของเงินปันผลที่ได้กลับคืนมา โดยเราสามารถเลือกทำประกันชีวิตกี่แบบก็ได้ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำประกันชีวิตไว้หลายฉบับมาก

สิ่งสำคัญคือ เมื่อศึกษาหาข้อมูลทำความเข้าใจเกี่ยวกับประกันชีวิตที่เราอยากทำจนละเอียดมากพอแล้ว ให้ตัดสินใจทำทันที ยิ่งตัดสินใจทำเร็วเท่าไหร่เราก็จะยิ่งคุ้ม เพราะถ้าเรายิ่งอายุมากขึ้นเราก็จะต้องจ่ายเบี้ยประกันในจำนวนที่สูงขึ้นนั่นเอง

 

ทำความเข้าใจเบี้ยประกัน

เบี้ยประกัน เป็นเงินจำนวนหนึ่งที่เราต้องจ่ายเพื่อผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น ที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจในเรื่องเบี้ยประกันด้วยนั้น เพราะเคยมีกรณีที่ผู้ทำประกันไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองถึงต้องจ่ายเบี้ยประกันมากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันประเภทใดก็ตาม แต่ละคนจะต้องจ่ายเบี้ยประกันในจำนวนที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ดังต่อไปนี้

  • อายุ 
  • เพศ
  • อาชีพ
  • สุขภาพ
  • ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต
  • ระยะเวลาความคุ้มครอง

เบี้ยประกัน เป็นปัจจัยหลัก ๆที่ทำให้ใครหลายคนไม่อยากทำประกัน แต่ถ้าเราพอรู้อยู่แล้วว่าการทำประกันเป็นเรื่องที่ดี เราแนะนำให้ลองปรึกษานายหน้าหรือตัวแทนประกันที่น่าเชื่อถือ ยิ่งตัดสินใจทำเร็วเท่าไหร่เราก็จะยิ่งได้รับความคุ้มค่าจากการทำประกันในทุกประเภท เพราะเบี้ยประกันจะแปรผันตามอายุของเราเป็นหลัก ยิ่งเราอายุมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องจ่ายเบี้ยประกันมากขึ้นเท่านั้นโดยเฉพาะเพศชาย

 

เงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันชีวิต 

สิ่งสำคัญก่อนตัดสินใจทำประกันชีวิต นั่นก็คือ การทำความเข้าใจข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันชีวิตอย่างละเอียด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความคุ้มครองว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับนี้คุ้มครองหรือไม่คุ้มครองการเสียชีวิตกรณีใดบ้าง ตัวอย่างเช่น บริษัทประกันอาจไม่จ่ายเงินประกันหากเราเสียชีวิตเนื่องจากสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ หรือหากคุณมีปัญหาด้านสุขภาพร้ายแรงหลังออกกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้นแล้ว บริษัทประกันอาจไม่จ่ายเงินประกันเนื่องจากสาเหตุการตายใด ๆที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยนั้น

และที่สำคัญเมื่อเราตัดสินใจทำประกันชีวิตไปแล้ว ควรกลับมาทบทวนเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันชีวิตบ้าง เพราะประกันชีวิตนั้นอาจเหมาะกับเราในขณะที่ทำประกันก็จริง แต่ในอีก 5 หรือ 10 20 ปีข้างหน้ามันอาจจะไม่ครอบคลุมความต้องการของเราทั้งหมดก็ได้

 

“บริษัทประกันชีวิตที่แนะนำ”

ประกันชีวิต AIA

ประกันชีวิต

 

ไทยประกันชีวิต

ประกันชีวิต

ประกันชีวิต FWD

ประกันชีวิต

กรุงไทย-แอกซ่า

 

เมืองไทยประกันชีวิต

 

 

  • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้

You may also like

Copyright © 2023 สงวนสิทธิ์ทุกประการ Good Material