Vision : วิสัยทัศน์ คือ ไขข้อสงสัยทำไมวิสัยทัศน์ถึงสำคัญต่อองค์กร

by goodmaterial
วิสัยทัศน์ คือ

ในโลกของธุรกิจเรามักได้ยินคำพูดว่า บริษัทที่ยิ่งใหญ่มักมีวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยม วิสัยทัศน์ คือ สิ่งที่จะบ่งบอกถึงความทะเยอทะยานขององค์กร บอกตัวตน และประกาศเป้าหมายให้กับพนักงานได้ทราบเพื่อที่จะบรรลุผลร่วมกัน ในบทความนี้ Good Material จะมาเล่าว่า วิสัยทัศน์ คืออะไร วิสัยทัศน์ที่ดีต้องมีองค์ประกอบอย่างไร และตัวอย่างที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง

 

Vision : วิสัยทัศน์ คือ

ความหมายทั่วไปของคำว่า Vision หรือ วิสัยทัศน์ คือ การหลับตาและจินตนาการถึงอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น มันคือความสามารถในการมองเห็นอย่างหนึ่งที่นอกเหนือจากความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า แต่สำหรับองค์กร วิสัยทัศน์ คือ สิ่งที่บริษัทต้องการจะบรรลุผลในระยะยาว โดยทั่วไปจะอยู่ในกรอบระยะเวลา 5 ถึง 10 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น สิ่งนี้จะแสดงถึงภาพในจินตนาการว่า บริษัทหรือองค์กรอยากจะมีลักษณะเช่นไรในอนาคต และถือเป็นการกำหนดทิศทางเพื่อวางแผนกลยุทธ์และการดำเนินการขององค์กร

“Vision is knowing who you arewhere you’re going and what will guide your journey.”

องค์ประกอบของวิสัยทัศน์ที่ดี

  • Purpose : วัตถุประสงค์ คือ เหตุผลในการมีอยู่หรือการดำรงอยู่ขององค์กร โดยการพิจารณาเหตุผลนั้นจากมุมมองของลูกค้า เป็นการให้คุณค่าแก่ผู้ที่ใช้สินค้าหรือบริการของคุณ ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์หลักขององค์กร ตัวอย่างเช่น บริษัททำสีหน้าต่างอาจขายเฉดสีหน้าต่าง แต่วัตถุประสงค์หลักของพวกเขาอาจทำเพื่อการควบคุมแสงและเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับลูกค้า
  • Picture of the future : ภาพอนาคต คือ ภาพที่จินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรหากองค์กรของคุณบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตั้งไว้ ภาพอนาคตนี้ไม่ใช่สิ่งคลุมเครืออย่างการเป็นคนดี หรือการเป็นอันดับหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่คุณสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนกว่า ตัวอย่างเช่น ภาพอนาคตของโลกที่ใช้คอมพิวเตอร์กันแทบทุกบ้าน – บิล เกต
  • Values : ค่านิยม เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตประจำวันที่บ่งชี้ถึงพฤติกรรม การตัดสินใจ หรือเป็นคุณค่าที่องค์กรอยากส่งมอบให้กับลูกค้า “Value Proposition” ตัวอย่างเช่น บริษัทดูแลสนามหญ้าที่ต้องการให้มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อเลือกค่านิยมขององค์กรได้แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องถามว่า “ค่านิยมใดบ้างที่จำเป็นเพื่อการสนับสนุนวัตถุประสงค์ขององค์กร ?”

วิสัยทัศน์ ไม่ใช่สิ่งต่อไปนี้

เราพอเข้าใจแล้วว่า วิสัยทัศน์ คือเป็นภาพจินตนาการถึงอนาคตที่เราฝันถึง แต่ก็มักมีความเข้าใจผิดและสับสนระหว่างคำว่า Vision, Mission และ Strategy

  • Vision ≠ Mission : Vision หรือ วิสัยทัศน์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเป้าหมายในอนาคตและการหาวิธีการที่คุณจะไปถึงที่นั่น ในขณะที่ Mission หรือ พันธกิจ จะมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ของแบรนด์ หรืออาจบอกได้ว่าวิสัยทัศน์คือความทะเยอทะยาน พันธกิจคือความสามารถทำได้จริง
  • Vision ≠ Strategy : Strategy หรือ กลยุทธ์ เป็นแผนการปฏิบัติที่รวบรวมความพยายามต่างๆเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ กลยุทธ์จะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายเข้ากับแนวทางในการปฎิบัติ วิธีการลงมือทำ และเครื่องมือที่ใช้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

 

ใครเป็นผู้กำหนด วิสัยทัศน์

ขั้นตอนแรกของการเขียน วิสัยทัศน์ คือ การกำหนดว่าใครจะมีบทบาทในการเขียนวิสัยทัศน์ ในองค์กรขนาดเล็กผู้บริหารสามารถรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากสมาชิกทุกคนในองค์กรได้อย่างง่ายดาย เพื่อเป็นแนวทางในการเขียน แต่ในองค์กรที่ใหญ่ขึ้น คุณอาจจะต้องเลือกตัวแทนจากพนักงานส่วนใหญ่เพื่อเข้ามาเป็นหนึ่งในเสียงขององค์กร เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงเสียงของพนักงานอย่างแท้จริง

Brandon Shockley ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัท 160over90 ที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์และการตลาด ได้ให้คำแนะนำว่า “องค์กรควรจัด Workshop ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญซึ่งเป็นตัวแทนส่วนต่างๆขององค์กร เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน”

จากข้อมูลของ Ford พบว่าพนักงานที่เข้าใจในวิสัยทัศน์ของบริษัท จะมีคะแนนความมีส่วนร่วมต่อองค์กรเฉลี่ย 68% แต่หากพนักงานไม่เข้าถึงวิสัยทัศน์ค่าเฉลี่ยการมีส่วนร่วมจะลดลงถึง 18% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ยิ่งไปกว่านั้นประมาณ 70% ของพนักงานไม่เข้าใจวิสัยทัศน์ขององค์กรเลย สิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อองค์กรโดยรวม เพราะถ้าพวกเขาไม่เข้าใจวิสัยทัศน์ก็หมายความว่า พวกเขาไม่เข้าใจเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปรับการทำงานให้สอดคล้องกับกลยุทธ์โดยรวม

ดังนั้นแล้ว Vision หรือ วิสัยทัศน์ คือ สิ่งที่พนักงานทุกคนต้องมีร่วมกับองค์กร ไม่ใช่เป็นแค่ของคนคิดเท่านั้น

หลักการเขียนวิสัยทัศน์ที่ดี

  • เขียนแสดงให้เห็นถึงสถานะหรือตำแหน่งในอนาคต (Future State) บนพื้นฐานของความเป็นจริง (Factual)
  • อธิบายถึงเป้าหมายในอนาคตที่ต้องการจะบรรลุ (Desirable Future)
  • สั้นและจำง่าย วิสัยทัศน์ไม่ควรเขียนเกิน 2 ประโยคและไม่ควรเกิน 30 คำ
  • วิสัยทัศน์ควรมาจากการระดมความคิด และการมีส่วนร่วมของสมาชิกในองค์กรอย่างทั่วถึง
  • เข้าใจง่ายสำหรับผู้มีส่วนร่วมทุกกลุ่ม
  • หลีกเลี่ยงการใส่เมตริกวัดผลในวิสัยทัศน์ของคุณ
  • ควรเลือกใช้คำอย่างเฉพาะเจาะจงและเกี่ยวข้องกับตลาดของคุณ
  • สร้างแรงบันดาลใจและมีความทะเยอทะยาน
  • วิสัยทัศน์ควรเข้ากับวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กร
  • มีความยืดหยุ่นอย่างพอดีตลอดช่วงเวลาดำเนินภารกิจขององค์กร และสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตามความจำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการกำหนดเป้าหมาย วันและเวลา ยกเว้นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดวันเวลาที่ชัดเจน

 

vision

Tesla’s Vision : เครติดรูปภาพ visionarybusinessperson.com

 

แนะนำวิธีการเขียนวิสัยทัศน์

อย่างไรก็ตามการเขียนวิสัยทัศน์ต้องเป็นมากกว่าสโลแกน แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีหากวิสัยทัศน์เขียนให้ง่ายต่อการจดจำ วิสัยทัศน์เขียนขึ้นเพื่อพนักงานทุกคนและเป็นเหมือนวัฒนธรรมขององค์กร ไม่ใช่เพื่อการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง 

และเพียงแค่สร้างคำแถลงวิสัยทัศน์ยังไม่เพียงพอ ต้องนำคำแถลงวิสัยทัศน์นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย เพื่อให้พนักงานในองค์กรมีแรงบันดาลใจและมีบทบาทอย่างแข็งขันในการดำเนินกลยุทธ์ต่างๆขององค์กร

1.จินตนาการภาพในอนาคต 

ให้ลองจินตนาการภาพขององค์กรคุณประมาณ 5-10 ปีข้างหน้า ว่าการแข่งขันในตลาดของคุณน่าจะเป็นอย่างไร? โลกน่าจะดำเนินไปในทิศทางใด? และองค์กรของคุณสามารถไปอยู่ในช่วงเวลานั้นได้หรือไม่? ควรเขียนวิสัยทัศน์ให้เป็นส่วนหนึ่งหรือมีความเชื่อมโยงกับโลกอนาคตที่คุณจินตนาการไว้ด้วย

2.กำหนดวัตถุประสงค์และตำแหน่งขององค์กร

ในการเขียนวิสัยทัศน์ต้องมีการพิจารณาและตอบคำถาม 3 ข้อนี้ให้ได้ จะช่วยให้เข้าใจกลยุทธ์ขององค์กรคุณได้ดียิ่งขึ้น

  • วัตถุประสงค์ : ทำไมถึงต้องมีองค์กรของคุณ?
  • ข้อได้เปรียบ : องค์กรของคุณทำสิ่งต่างๆให้แตกต่าง ดีขึ้น หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร?
  • ขอบเขต : องค์กรควรหรือไม่ควรทำอะไร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร?

3.อธิบายความสำเร็จ

เป็นการให้คำจำกัดความแบบกระชับและชัดเจน ว่าความสำเร็จในการดำเนินงานขององค์กรจะเป็นอย่างไร (ไม่ได้หมายถึงการลงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการทำงาน)

4.พิจารณาประเภทและโครงสร้างขององค์กร

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมักจะอธิบายถึงโลกในอุดมคติ (อยากให้โลกหรือสังคมเป็นอย่างไร) ในขณะที่องค์กรที่แสวงหาผลกำไรหรือเอกชนส่วนใหญ่ มักจะอธิบายถึงองค์กรในอุดมคติ (อยากให้องค์กรหรือผู้มีส่วนได้เสียเป็นอย่างไร) 

5.อ้างอิงคู่แข่งหรือสร้างการเปรียบเทียบ

หากเป็นองค์กรขนาดเล็กในตลาดที่มีความเฉพาะเจาะจงอย่าง Niche Market แนะนำให้ใช้วิธีพิจารณาอ้างอิงองค์กรที่พนักงานของคุณจะนึกภาพออกได้อย่างรวดเร็ว เช่น เราจะเติบโตเร็วกว่าแบรนด์X (X เป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมของคุณ)

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่ Niche market คือ แนะนำหลักการทำ niche marketing ให้เจริญเติบโต

6.อธิบายเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้

เป้าหมายที่สามารถวัดผลได้ เช่น เราต้องการยอดขายถึง XX ล้านบาท ภายในปี 20XX, เราจะเป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เราแข่งขัน เป็นต้น

 

ตัวอย่าง วิสัยทัศน์ ขององค์กรระดับโลก

นี่คือตัวอย่างวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย และองค์กรที่เราคุ้นเคยในระดับโลก Vision หรือวิสัยทัศน์เหล่านี้อาจเป็นแรงบันดาลใจช่วยให้คุณเขียนวิสัยทัศน์ให้กับองค์กรของคุณได้

  • AIS : เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในประเทศไทย
  • CP All (ร้าน 7-11) : เราให้บริการความสะดวกกับทุกชุมชน
  • Workpoint : เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบันเทิงแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่ขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมแห่งความสร้างสรรค์ควบคู่คุณธรรม
  • สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) : องค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยั่งยืน
  • AOT (ท่าอากาศยานไทย) : ผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก : การมุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสร้างรายได้อย่างสมดุล
  • Toyota : เป็นกลุ่มบริษัทยานยนต์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือและยอมรับมากที่สุดระดับโลก
  • Samsung : Shape the Future with Innovation and Intelligence
  • Tesla : To create the most compelling car company of the 21st century by driving the world’s transition to electric vehicles.
  • Facebook : People use Facebook to stay connected with friends and family, to discover what’s going on in the world, and to share and express what matters to them.
  • Amazon : To be Earth’s most customer-centric company, where customers can find and discover anything they might want to buy online.
  • TED : Spread ideas.
  • Nike : We see a world where everybody is an athlete — united in the joy of movement.

 

สรุป

ถึงตาคุณแล้วครับที่จะเขียนวิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยมของตัวเองออกมา อย่างที่กล่าวไปว่า วิสัยทัศน์ คือ เป้าหมายและความทะเยอทะยานขององค์กร ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นการทำให้คำแถลงวิสัยทัศน์ของคุณเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างแท้จริง พนักงานทุกคนเข้าถึงและเข้าใจ Vision จะช่วยให้พนักงานมีแรงบันดาลใจในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อบรรลุจุดประสงค์ขององค์กรร่วมกัน

 

Copyright © GoodMaterial.co

  • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
  • ข้อมูลอ้างอิง : 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6 / 7

You may also like

Copyright © 2023 สงวนสิทธิ์ทุกประการ Good Material