spot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

Kaizen คือ ทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ ไคเซ็น การใช้งาน หลักการ และประโยชน์

1.kaizen-jorportoday-Cover-1170x780-1

หากพูดถึง “Kaizen” ที่ผมได้ยินครั้งแรกตอนนั้นผมคิดว่ามันคือ วิถีชีวิตและปรัชญาของนักรบหรือซามูไร แต่ในความจริงแล้วสิ่งที่ผมได้เรียนรู้หลังจากศึกษา ไคเซ็น กลับเป็นอีกสิ่งที่ช่วยในการปรับปรุงวิถีชิวิตในชีวิตประจำวัน และปรับปรุงคุณภาพการผลิตระดับองค์กรได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะได้รับการพิสูจน์จากบริษัทน้อยใหญ่มากมายทั่วโลกแล้ว บทความนี้ Good Material จะมาเล่าถึงวิถีของไคเซ็นในการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรกันครับ

ไคเซ็น คือ ?

改善 : Kaizen คือ การปรับปรุงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า/การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คำจำกัดความของ “ไคเซ็น” มาจากคำภาษาญี่ปุ่นสองคำคือ “改 : ไค” แปลว่า ‘เปลี่ยน’ และคำว่า “善 : เซน” แปลว่า ‘ดีหรือความดี’ ในทางธุรกิจ ไคเซ็น หมายถึงกิจกรรมที่ปรับปรุงการทำงานทั้งหมดอย่างต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกับพนักงานทุกคนตั้งแต่ซีอีโอจนถึงพนักงานปฎิบัติงาน

ในการผลิตแบบ Lean Kaizen คือแนวทางปฎิบัติในการปรับปรุงทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ วิธีการผลิตแบบลีนเป็นพื้นฐานที่ช่วยปรับปรุงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในบริษัทของคุณ หมายความว่าผู้จัดการ หัวหน้าทีม และพนักงานปฎิบัติงาน จะค้นหาวิธีปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ไคเซ็นนอกจากจะมีประสิทธิภาพในตัวเองอยู่แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของ กระบวนการผลิตแบบลีน (Lean Manufacturing) และ Total Productive Maintenance (TPM) ในเสาหลักที่สอง คือ Focus Improvement หนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้คุณลดของเสียและเพิ่มประสิทธิผลของการผลิตได้เป็นอย่างดี

 

2.kaizen-jorportodat-Cover-6-1024x576-1

ประโยชน์ของ Kaizen คือ

หลักการ ไคเซ็น แรกเริ่มนำมาใช้โดยบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก แต่ประโยชน์ของไคเซ็นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภาคการผลิตเท่านั้น ไม่ว่าอุตสาหกรรมใดก็ล้วนได้ประโยชน์ทั้งสิ้นหากนำ Kaizen มาใช้ในองค์กรอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยในเรื่อง

  • เพิ่มผลผลิต
  • เพิ่มประสิทธิภาพ
  • ปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ / การบริการ
  • ลดของเสียให้น้อยที่สุด
  • ประหยัดเวลาในการจัดการ
  • ลดต้นทุน
  • ปรับปรุงความปลอดภัย
  • เพิ่มผลกำไร
  • เพิ่มความพอใจของลูกค้า

ข้อดีอีกข้อของ ไคเซ็น เมื่อเทียบกับแนวทางการปรับปรุงคุณภาพอื่นๆ คือ คุณไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ แม้ว่าสิ่งเล็กๆน้อยๆที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงจะเป็นหัวใจของปรัชญานี้ แต่สิ่งที่ต้องจำไว้ด้วยก็คือ ในการผลิต “ทุกคน” จำเป็นต้องมีส่วนร่วม มีความมุ่งมั่น และมีความต่อเนื่อง

ก่อนจะเริ่มพูดถึงรูปแบบการใช้งานหลัก การประยุกต์ใช้ และตัวอย่างของบริษัทที่ใช้ ผมขอเล่าถึงประวัติของไคเซ็นให้ฟังคร่าวๆก่อนนะครับ

ประวัติของ Kaizen

ประวัติความเป็นมาของไคเซ็นมีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองช่วงปี พ.ศ. 2485 ถึง พ.ศ. 2518  ช่วงนั้นญี่ปุ่นผู้แพ้สงครามต้องการที่จะขับเคลื่อนประเทศด้วยการเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ จึงเกิดกระแสการปรังปรุงคุณภาพการผลิตและลดความสูญเสีย ปรัชญาไคเซ็นได้ถูกคิดค้นและใช้งานในช่วงนี้ แต่แนวคิดนี้ก็ไม่ใช่มาจากประเทศญี่ปุ่นเสียทั้งหมด

หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าร่วม Bretton Woods System และต้องได้รับการจัดการประเทศอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาผู้ชนะสงครามจึงส่ง “William Edwards Deming” เข้ามาเป็นผู้จัดการและสร้างประเทศให้ดียิ่งขึ้น Deming ใช้หลัก การผลิตที่คุณภาพสูงคู่กับการลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประเทศญี่ปุ่นปรับปรุงคุณภาพการผลิต ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดสินค้าในหลายประเภทสำหรับการส่งออกสินค้าไปขายตลาดโลก แนวคิดของเดมิ่งนี้ได้รับการยอมรับจากบริษัทญี่ปุ่นมากมาย โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นอย่าง Toyota ซึ่งความสำเร็จของโตโยต้าช่วยแพร่กระจายแนวคิดของ Kaizen รวมถึงการผลิตแบบ Lean Manufacturing

It is not enough to do your best; you must know what to do, and then do your best

– W. Edwards Deming

ภายหลังมีสิ่งที่เรียกกันว่า Toyota Way เผยแพร่ออกไปและส่งผลให้มีการนำไคเซ็นไปใช้นอกประเทศญี่ปุ่น ทฤษฎีไคเซ็นได้รับความนิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตก ผู้ที่นำการเผยแพร่ครั้งนี้คือคุณ  Masaaki Imai เขาได้ก่อตั้ง Kaizen Institute ซึ่งช่วยให้บริษัทของชาวตะวันตกนำหลักไคเซ็นไปใช้ได้อย่างถูกต้องจนมาถึงปัจจุบัน

3.kaizen-jorportoday

Kaizen Institute

ไคเซ็นทำงานอย่างไร

Kaizen ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อว่าทุกสิ่งสามารถปรับปรุงได้ และไม่มีสิ่งใดคงสภาพที่เป็นอยู่ไปได้ตลอด นอกจากนี้ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของการ เคารพผู้คนและเพื่อนร่วมงาน ในการทำงานจะเกี่ยวข้องกับการระบุประเด็นปัญหาและโอกาสในการสร้างวิธีแก้ปัญหา และนำไปปฎิบัติ หลังจากนั้นจะทบทวนขั้นตอนและกระบวนการอีกครั้งสำหรับปัญหาที่ยังได้รับการแก้ไขไม่ดีพอ ในวงจรนี้ประกอบด้วย 7 ขั้นตอนที่สามารถนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มีขั้นตอนดังนี้4.Blue-and-Mint-Green-Cycle-Diagram-jorportoday

 

1.การให้พนักงานมีส่วนร่วม (Get Employees Involved)

การได้รับความร่วมมือจากพนักงานเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานที่ราบลื่น โดยร่วมมือกันทั้งการรวบรวมและระบุปัญหา เพื่อทดสอบหาวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ

2.ค้นหาปัญหา (Find Problem)

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจในการค้นหาและพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ นำปัญหาที่เจอหรืออาจจะเกิดขึ้นจากการระดมความเห็นจากพนักงานทุกคนและสร้างเป็นรายการขึ้นมา

3.ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา (Create Solution)

ส่งเสริมและให้อำนาจพนักงานทุกคนในองค์กร ช่วยกันสร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ หรือการปรับปรุงวิธีการเดิมๆ โดยผู้บริหารควรสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว

4.ทดสอบวิธีการแก้ปัญหา (Test Solution)

เลือกวิธีการแก้ปัญหาจากการระดมความคิดของพนักงานที่ได้รับการสนับสุนุนสูงสุด สร้างโปรแกรมนำร่อง เพื่อทดลองในพื้นที่จำกัดที่ไม่ส่งผลต่อภาพใหญ่ขององค์กร

5.วิเคราะห์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (Analyze the Result)

ขั้นตอนนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่ง คุณต้องสามารถวัดผล วิเคราะห์ผลลัพธ์ จากการทดลองของ โปรแกรมนำร่อง ได้ว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้เป็นอย่างไร การทดสอบนั้นให้ผลลัพธ์ที่ดีหรือยังคงต้องปรับปรุง ขั้นตอนนี้จะช่วยให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทดลองและวิเคราะห์ผลลัพธ์ร่วมกัน

หากผลลัพธ์ยังไม่เป็นที่พอใจ คุณและทีมอาจจะกลับไปที่ ข้อ 2 ค้นหาปัญหาเพิ่มเติ หรือ ข้อ 3 สร้างวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ เพื่อทำการทดลองแก้ปัญหาอีกครั้งจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ

6.สร้างมาตรฐาน (Standardize)

หากองค์กรและพนักงานพอใจกับผลลัพธ์ ให้สร้างมาตรฐานในการทำงานขึ้นมาและตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนในทีมเข้าใจวิธีการและใช้วิธีการแก้ปัญหาใหม่

7.ทำซ้ำ (Repeat)

ขั้นตอนทั้ง 7 นี้ควรทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งกับปัญหาเดิมและปัญหาใหม่ที่คุณได้พบเจอ สิ่งนี้จะเป็นการสร้างนิสัยของไคเซ็น คือการมองว่ายังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ในทุกวัน

หลักสิบประการของ Kaizen

อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า ไคเซ็นเป็นเสมือนปรัชญาแนวคิดและการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้คุณต้องแน่ใจว่าแนวคิดนี้เหมาะกับองค์กรและพนักงานของคุณ เพื่อความสำเร็จขององค์กร บุคลากรต้องเห็นด้วย โดย Kaizen มีหลัก 10 ประการที่มักกล่าวถึงและเป็นหัวใจของปรัชญานี้ คือ

  1. ปล่อยวางสมมติฐาน
  2. มีความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา
  3. อย่ายอมรับสภาพที่เป็นอยู่
  4. ละทิ้งความสมบูรณ์แบบและใช้ทัศนคติของการเปลี่ยนแปลง ด้วยการปรับตัวให้ดีขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
  5. มองหาแนวทางการแก้ไขเมื่อพบความผิดพลาด
  6. สร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรู้สึกมีอำนาจในการมีส่วนร่วม
  7. อย่ายอมรับปัญหาที่พบเจอเบื้องหน้า ให้ถามว่า “ทำไม” จำนวนห้าครั้ง (5 Whys) เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
  8. ศึกษาข้อมูลและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อถามความคิดเห็น
  9. ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อค้นหาการปรับปรุงเล็กๆน้อยๆ ที่มีต้นทุนต่ำ
  10. อย่าหยุดปรับปรุง

เทคนิกและเครื่องมือสำหรับ ไคเซ็น

Kaizen มีเป้าหมายเพื่อสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผล รูปแบบการดำเนินการผ่านการส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีสำหรับพนักงาน พร้อมกับการเรียนรู้ หาสาเหตุของปัญหา และแก้ไข ของผู้บริหารร่วมกับผู้ปฎิบัติงาน โดยมีเครื่องมือให้ใช้หลากหลาย และนี่คือเครื่องมือบางส่วนที่คุณสามารถนำไปใช้ได้จริง

1.Deming Cycle หรือ วงจร PDCA

ตัวอย่างที่โดดเด่นของ Kaizen คือ การดำเนินการตามกระบวนการที่เรียกว่า Deming Cycle หรืออีกชื่อ PDCA Cycle ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ

  • P : Plan คือ ขั้นตอนการเก็บข้อมูลและวางแผน กำหนดขั้นตอนการลงมือ
  • D : DO คือ การนำแผนงานและวิธีการที่ได้กำหนดไว้ มาลงมือปฎิบัติ
  • C : Check คือ การตรวจสอบความคืบหน้าและผลลัพธ์หลังจากที่ได้ลงมือไปแล้ว
  • A : Act /Action คือ การปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนวิธีการหรือทรัพยากรบางอย่างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

5.PDCA-jorportoday

PDCA เป็นวิธีการดำเนินการซ้ำๆ พร้อมการปรับปรุงให้ดีขึ้นทุกครั้งที่ได้ลงมือทำ เมื่อคุณได้นำหลักการ PDCA ไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการผลิตหรือในบริษัท จะผลส่งในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน และนี่คือหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังของไคเซ็น

บทความที่เกี่ยวข้อง : PDCA คือ ทุกเรื่องควรรู้ในการใช้งาน Deming Cycle เพื่อปรับปรุงคุณภาพการผลิต

2.Gemba / Gemba Walks

Gemba ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “สถานที่จริง” ในการจัดการแบบลีน “Gemba” คือ สถานที่ที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับการปฏิบัติงาน เพราะเนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีการทำงานเกิดขึ้นจริง ถ้าในโรงงาน Gemba คือ พื้นที่ในส่วนของโรงงานและเครื่องจักร ถ้าเป็นร้านอาหารก็จะเป็นส่วนครัวและพื้นที่รับประทานอาหาร

แนวความคิดของ Gemba เป็นการให้ผู้บริหารออกไปเดินเพื่อดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานจริงบ้าง ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ และปัญหาที่เจอ พร้อมกับการสร้างสัมพันธ์กับผู้ปฎิบัติงาน สิ่งนี้เรียกว่า “Gemba Walk” มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการคือ

  1. การเดินไปดู : แนวคิดของการเดินแบบ Gemba คือการให้ผู้บริหารหรือผู้จัดการในทุกระดับเดินไปรอบๆ บริเวณพื้นที่ทำงานเป็นประจำ และมีส่วนร่วมในการสังเกตกิจกรรมที่สิ้นเปลืองหรือไม่จำเป็นต่อการผลิต
  2. ถามว่าทำไม ? : วัตถุประสงค์หลักของ Gemba Walk คือการสำรวจ Value Stream Map (แผนภูมิสายธารแห่งคุณค่า) โดยละเอียด และค้นหาส่วนที่เป็นปัญหาผ่านการสื่อสารกับผู้ปฎิบัติงาน ผู้นำที่ดีจะกระตือรือร้นที่จะฟังมากกว่าพูด นี่คือส่วนที่คุณจะเจอ รากของปัญหา (Root Cause) ผ่านเทคนิกต่างๆ เช่น 5Why หรือการถามทำไม 5 ครั้ง
  3. เคารพผู้คนและเพื่อนร่วมงาน : จงจำไว้ว่า Gemba Walk ไม่ใช่ “การเดินแบบเจ้านาย” การเดินไปชี้นิ้วตำหนิผู้คนหรือลูกน้อง เป็นสิ่งที่คุณไม่จำเป็นต้องทำ คุณเดินไปที่นั่นเพื่อทำงานร่วมกับทีมและค้นหาปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่การเดินเพื่อไปตัดสินและตรวจผลลัพธ์

ถ้าผู้บริหารหรือผู้จัดการสามารถทำ “Gemba Walk” ได้เป็นประจำ จะมีประโยชน์หลายประการเช่น

  • สร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับผู้ปฎิบัติงาน
  • สามารถระบุปัญหาและดำเนินการเพื่อปรับปรุงได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
  • สร้างการสื่อสารไปยังผู้ปฎิบัติงานและชี้แจงวัตถุประสงค์อย่างตรงไปตรงมา เป็นการเพิ่มความผูกพันธ์

Gemba สามารถใช้ร่วมกับ PDCA Cycle ได้ทุกกระบวนการของ P – D – C- A ตั้งแต่การเดินเพื่อให้เข้าถึงปัญหา เป็นการเก็บข้อมูลสำหรับวางแผน (P : Plan) และ การลงมือปฎิบัติงานร่วมกันพนักงาน (D : Do) การเดินตรวจสอบหลังลงมือปฎิบัติ (C : Check)

3.Root Cause Analysis (5 Whys)

คุณเคยมีปัญหาที่แก้เท่าไหร่ก็ไม่ยอมหายไปหรือไม่? ไม่ว่าคุณจะทำอะไร แก้ปัญหาไปแค่ไหน ไม่ช้าก็เร็วมันจะหวนกลับมาอีก บางทีก็กลับมาในรูปแบบอื่น การแก้ปัญหารูปแบบนี้มักถูกจัดการด้วยการ “แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า” ที่ดูเหมือนสะดวก แต่มันเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยกร เพราะคุณอาจไม่ได้แก้ไขที่ต้นตอของปัญหาจริงๆ

การถามว่า “ทำไม ” 5 ครั้งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการระบุสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เทคนิกนี้เรียบง่ายแต่ทรงพลังในการล้วงลึกเข้าไปถึงสาเหตุและอาการของปัญหานั้นๆได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่คุณจะจัดการมันได้อย่างทันทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : Root Cause Analysis กระบวนการหาต้นเหตุของปัญหาด้วย “5 Whys”

4.Value Stream Mapping

Value Stream Map (แผนภูมิสายธารแห่งคุณค่า) เป็นเครื่องมือการจัดการแบบลีน ช่วยให้เห็นภาพขั้นตอนที่จำเป็นในการดำเนินการ ตั้งแต่การสร้างผลิตภัณฑ์จนถึงการส่งมอบให้กับลูกค้าปลายทาง กระบวนการของ ไคเซ็น จะเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะคุณจะทราบถึงแผนผังของวัสดุที่เคลื่อนผ่านที่ต่างๆของสถานที่ทำงาน คุณสามารถตรวจสอบ Value Stream Map ผ่าน Gemba Walk เพื่อตรวจหาและระบุขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในกระบวนการผลิต ค้นหาพื้นที่ที่สามารถปรับปรุงภายในกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

6.Value-Stream-Map-แผนภูมิสายธารแห่งคุณค่า-jorportoday

ที่มาของรูป : wikipedia.org

5. 5 ส

กิจกรรม 5ส เป็นส่วนสำคัญของระบบ ไคเซ็น ซึ่งช่วยในการสร้างสถานที่ทำงานในอุดมคติ กรอบแนวคิดของ 5ส มุ่งเน้นไปที่การสร้างองค์กรที่สะอาด สะดวก และปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มพูนผลกำไร โดย 5ส ประกอบด้วย

  • 整理 (Seiri) : Sort :  สะสาง
  • 整頓 (Seiton) : Set in order : สะดวก
  • 清掃 (Seiso) : Shine : สะอาด
  • 清潔 (Seiketsu) : Standardize: สร้างมาตรฐาน
  • 躾 (Shitsuke) : Sustain : สร้างวินัย

สามารถศึกษาเรื่อง 5ส อย่างละเอียดได้ที่ : กิจกรรม 5ส คือ ทุกเรื่องควรรู้ในการใช้งาน 5S เพื่อเพิ่มประสิทธิผลองค์กร

นี่เป็นเพียงเครื่องมือบางส่วนที่อยู่ภายใต้ระบบของ Kaizen ยังมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอีกมากมาย เช่น Quality Circles , Jishuken , Muda: The 8 Wastes of Lean , 5W1H (Who, What , When , Where ,Why ,How) ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้เครื่องมือแบบใด ขอแค่ให้ทุกส่วนขององค์กรมีส่วนร่วมพร้อมขับเคลื่อนไคเซ็นร่วมกัน ก็ย่อมหมายถึงการร่วมกันพัฒนาที่ดีขึ้นแล้วครับ

ข้อดี – ข้อเสีย

ผมว่าขั้นตอนทั้งหมดที่เขียนมาล้วนเป็นข้อดีทั้งสิ้น เช่น การพัฒนาองค์กรและกระบวนการผลิตที่ดีขึ้น ผมเขียนข้อดีและประโยชน์มามากแล้ว ขอเขียนถึงข้อเสียของ ไคเซ็น กันบ้างนะครับ

  1. ไคเซ็น สามารถนำไปปฎิบัติได้ยาก หากบริษัทนั้นๆ มีรูปแบบการบริหารจัดการที่มั่นคงแล้ว การเข้าไปเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและการนำวิธีการใหม่ๆเข้าไปใช้ อาจจะเกิดการต่อต้านจากพนักงานได้ นอกจากนี้ ไคเซ็น ยังนำไปสู่การเพิ่มภาระงานให้กับพนักงานระดับบริหาร ซึ่งหากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมก็อาจจะสร้างความรู้สึกขุ่นเคืองใจได้
  2. ไคเซ็นมีการใช้รูปแบบการสื่อสารที่เปิดกว้างระหว่างพนักงานในทุกระดับขององค์กร ในการแสดงความคิดเห็น ถกเถียงและเสนอวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งอาจจะทำให้บางคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในระดับบริหารรู้สึกเหมือนสูญเสียอำนาจได้
  3. ไคเซ็นต้องการความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของพนักงานทุกคนในทุกระดับ เนื่องจาก ไคเซ็น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบหรือเห็นผลลัพธ์ในทันที ความกระตือรือร้นในช่วงแรกจึงเริ่มจางหายไปอย่างรวดเร็ว และสถานการณ์อาจจะกลับไปสู่สภาวะปกติ หากเป็นเช่นนี้กระบวนการไคเซ็นก็จบลงทันที

7.kaizen-jorportoday-63-1024x429-1

ตัวอย่างบริษัทที่ใช้ ไคเซ็น 

เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจอย่างแท้จริงว่า หลังการใช้งานไคเซ็นสามารถกระตุ้นธุรกิจของคุณได้อย่างไร และนี้คือบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการใช้งานไคเซ็นครับ

  • Toyota : หนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุด โตโยต้า คือผู้นำการใช้ ไคเซ็น อย่างแท้จริง โตโยต้าเป็นบริษัทแรกๆ ที่ใช้เทคนิกของไคเซ็นเพื่อปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และยังส่งต่อไปยังบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับโตโยต้า และบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นยังคงยึดมั่นในหลักการของ ไคเซ็น มาจนถึงปัจจุบัน บริษัทโตโยต้าได้ปรับปรุงคุณภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนภายหลังกลายเป็นเทคนิก Toyota Production Systems (TPS) และ หลัก Toyota Way
  • Pixar Animation Studios : Pixar ได้ใช้รูปแบบการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ช่วยให้บริษัทลดความเสี่ยงเรื่องความล้มเหลวจากการผลิตภาพยนต์ที่มีต้นทุนสูง โดยใช้การตรวจสอบ และการควบคุมคุณภาพ
  • Great Western Bank : อีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีที่สุดของ ไคเซ็น นอกเหนือจากวงการอุตสาหกรรมการผลิต จากรายงานประจำปี 2559 ของธนาคารระบุว่า ธนาคาร Great Western ใช้หลักการ Lean & Kaizen ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดของเสีย ขจัดความซ้ำซ้อน และปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรตลอดถึงการดำเนินงาน
  • Ford Motor : ผู้นำของบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกัน ที่สามารถใช้กระบวนการผลิตรูปแบบใหม่เพื่อลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ ในปี 2006 ผู้ได้รับตำแหน่ง CEO คนใหม่ Alan Mulally เป็นผู้ที่ศึกษาและเชื่อใน Lean Manufacturing เขาได้ใช้ ไคเซ็น เพื่อช่วยให้บริษัทรอดพ้นจากการล้มละลายในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 และพลิกโฉมองค์กรให้เติบโตยิ่งขึ้นอีกด้วย

สรุป

Kaizen คือ วิถีแห่งการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้บุคคลหรือองค์กรได้มองหาและปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอยู่เสมอ ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆของแต่ละองค์กรได้อย่างคาดไม่ถึง 

  • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
  • ข้อมูลอ้างอิง : 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6 / 7

เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ :
* สงวนลิขสิทธิ์ทุกเนื้อหา และ ภาพประกอบของ Jorportoday สามารถนำไปเผยแพร่ได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เชิงพาณิชย์

** กรณีมีการคัดลอกบทความของเราไปส่วนใดส่วนหนึ่ง โปรดติดลิงค์กลับมาที่หน้านี้เพื่อให้เครดิตกับเรา

Similar Articles

Special advertising

spot_img

Special Ads

spot_img

Ads.1

spot_img

Ads.3

spot_img

Ads.4

spot_img
spot_img

Ads.5

spot_img

Most Popular