Home » PESTEL Analysis คือ แนะนำหลักการวิเคราะห์ การใช้งาน และประวัติของ PESTLE

PESTEL Analysis คือ แนะนำหลักการวิเคราะห์ การใช้งาน และประวัติของ PESTLE

by Andrew Day
363 views

ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกหรือแม้กระทั่งระดับประเทศมีการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนและมีการแข่งขันที่สูงขึ้น องค์กรและผู้บริหารล้วนต้องเจอความท้าทายครั้งใหญ่ การให้ความสำคัญกับการวางแผนและวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่คุณไม่สามารถควบคุมได้  เครื่องมืออย่าง PESTEL Analysis คือ หนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ธุรกิจสามารถพิจารณาถึงการแข่งขันในสภาพแวดล้อมมหภาคได้รอบด้าน ในบทความนี้ Good Material จะมาเล่าถึง ประวัติ, การวิเคราะห์ PESTELการใช้งาน, ข้อดี – ข้อเสีย และตัวอย่างครับ

 

PESTEL Analysis คือ

PESTEL Analysis คือ กรอบการคิดเชิงกลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้ในการประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกของธุรกิจ โดยแบ่งโอกาสและความเสี่ยงออกเป็นปัจจัยต่างๆ 6 ปัจจัย โดยคำว่า PESTLE ไม่มีความหมายใดๆ เป็นเพียงเครื่องมือช่วยจำ ซึ่งแต่ละตัวอักษรหมายความถึง

  • P : Political = ปัจจัยด้านการเมือง
  • E : Economic = ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
  • S : Social =  ปัจจัยด้านสังคม
  • T : Technological = ปัจจัยด้านเทคโนโลยี
  • L : Legal = ปัจจัยด้านกฎหมาย
  • E : Environmental = ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม

Yellow-Engagement-Driver-Personality-Instagram-Post-6

การวิเคราะห์ในมิติของ PESTLE คือ การพิจารณาสภาพแวดล้อมภายนอกในมุมสูงเพื่อพิจารณาแง่มุมต่างๆที่ต้องการตรวจสอบ หรือติดตาม เพื่อวางแผนสำหรับการเปิดตัวโครงการ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่

ในมิติของการพิจารณาอาจมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างออกไปบ้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดบางส่วนจึงได้เพิ่มการพิจาณาส่วนของ

  •  E : Ethics = จริยธรรม หรือ จรรยาบรรณ

เข้ามาในภายหลังจึงถูกเรียกว่า PESTELE ทั้งหมดขอให้เข้าใจตรงกันว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันนะครับ

ก่อนจะไปถึงการวิเคราะห์ PESTLE อย่างละเอียด ผมขอกล่าวถึงที่มาและประวัติให้ทราบคร่าวๆก่อนนะครับ

 

ประวัติของ PESTEL

ก่อนใช้งานจริง การรู้ที่มาที่ไปอาจช่วยให้คุณทราบว่าการใช้งานแต่เดิมแล้วมีที่มาอย่างไร เพื่อที่จะเข้าใจบริบทของการใช้งานในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น ประวัติของ PESTLE จากการค้นคว้านั้นมีความคลุมเครือ ไม่มีเอกสารอ้างอิงเกี่ยวกับ บุคคลหรือองค์กร แต่ก็พอจะหาที่มาได้ตามนี้ครับ

  • ปี 1967 : ในบทความวิชาการหัวข้อ “Scanning the Business Environment” มีการกล่าวถึงบุคคลชื่อ Francis J. Aguilar ว่าได้มีการวิเคราะห์ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม โดยมีคำย่อว่า “ETPS” เพื่อระบุปัจจัยด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
  • ปี 1970 : ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 บุคคลชื่อ Arnold Brown ได้ให้ทำการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่ชื่อว่า “STEP” สำหรับการประเมินแนวโน้มเชิงกลยุทธ์ และได้เพิ่มเติมเป็น STEPE ในภายหลัง ปัจจัยในการวิเคราะห์จึงประกอบด้วย ด้านสังคม ด้านเทคนิก ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง และนิเวศวิทยา
  • หลังปี 1980 : หลังการวิเคราะห์ของ Arnold Brown ได้มีการต่อยอดเพื่อกำหนดปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในหลายด้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดการวิเคราะห์แบบอื่นๆตามมา ได้แก่ PEST , STEP , STEEPLE และ PESTEL Analysis 

Yellow-Engagement-Driver-Personality-Instagram-Post-7

ปัจจัยต่างๆในการวิเคราะห์ PESTEL Analysis

Political : ปัจจัยด้านการเมือง

ปัจจัยด้านการเมืองที่ต้องพิจารณาคือ คุณต้องทราบว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศ (สำหรับทำธุรกิจข้ามชาติ) หรือรัฐบาลไทยแทรกแซงเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมใดบ้างและแทรกแซงในระดับใด รวมถึงนโยบายของรัฐบาล เสถียรภาพทางการเมืองหรือความไม่แน่นอนของการคอรัปชั่น นอกจากนี้รัฐบาลยังส่งผลต่อระบบการศึกษาที่ส่งผลต่อโครงสร้างพื้นฐาน ทักษะฝีมือแรงงานในประเทศ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อประเมินตลาดที่มีศักยภาพ

ปัจจัยการเมืองมักมีผลกระทบต่อองค์กรและวิธีการดำเนินธุรกิจ องค์กรต้องสามารถตอบสนองต่อกฎหมายในปัจจุบันและที่คาดการณ์ไว้ในอนาคต รวมถึงวางแผนปรับเปลี่ยนนโยบายการตลาดให้เหมาะสม

ปัจจัยทางการเมืองอื่นๆ ที่ควรนำมาพิจารณาให้เหมาะสมกับธุรกิจคุณ

  • ขนาดงบประมาณของรัฐบาล
  • กฎระเบียบ / ข้อจำกัด ด้านการนำเข้า – ส่งออก
  • ระดับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
  • ระเบียบการแข่งขัน
  • นโยบายด้านภาษี
  • เสถียรภาพของรัฐบาล
  • เสรีภาพของสื่อมวลชน
  • การมีส่วนร่วมของรัฐบาลต่อสหภาพแรงงาน
  • จำนวนการประท้วงต่อรัฐบาล
  • ระดับการทุจริต

Economic : ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท และอาจจะส่งผลระยะยาว โดยปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย รายได้ของผู้บริโภคและอัตราว่างงาน

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกเป็น ปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคที่เกี่ยวข้องกับกลไลทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น รัฐบาลอาจใช้การควบคุมดอกเบี้ย นโยบายด้านการจัดเก็บภาษี และงบประมาณของรัฐบาลเป็นกลไกลหลักที่เข้ามาใช้ดำเนินการ เศรษฐกิจระดับจุลภาค เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค กำลังซื้อของประชาชน สิ่งเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจประเภท B2C

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่ควรนำมาพิจารณาให้เหมาะสมกับธุรกิจคุณ

  • อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • อัตราแลกเปลี่ยน
  • แนวโน้มตลาดหุ้น
  • แนวโน้มการว่างงาน
  • อัตราดอกเบี้ย
  • อัตราเงินเฟ้อ
  • การขาดดุลงบประมาณของภาครัฐ
  • ความผันผวนของราคาสินค้า

 

Social : ปัจจัยด้านสังคม

ปัจจัยทางด้านสังคมจะเกี่ยวข้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรม เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและทัศนคติของประชากร โดยปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ การเติบโตของประชากร การกระจายตัว ค่าเฉลี่ยอายุ ความใส่ใจด้านสุขภาพ ทัศนคติด้านอาชีพ และอื่นๆ ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลโดยตรงต่อนักการตลาดที่เข้าใจลูกค้า ซึ่งจะส่งผลต่อแคมเปญการตลาดเพื่อให้เข้าถึงพวกเขา

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่ควรนำมาพิจารณาให้เหมาะสมกับธุรกิจคุณ

  • รายได้ต่อหัว
  • ขนาดการเจริญเติบโตของประชากร
  • อัตราการเกิด – อัตราการตาย
  • ค่าเฉลี่ยอายุขัย
  • ค่าเฉลี่ยความมั่นคงของประชากร
  • ระดับการศึกษา
  • จำนวนเงินเก็บ และ อัตราการออม
  • ระดับอาชญากรรม
  • ขนาดและโครงสร้างของครอบครัว
  • ศาสนา และ ความเชื่อ

Technological : ปัจจัยด้านเทคโนโลยี

เราทราบกันดีว่าเทคโนโลยีมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก เทคโนโลยีจะส่งผลต่อตลาดสินค้าและบริการอย่างไร ปัจจัยทางเทคโนโลยีมีผลต่อการตลาดและการบริหารจัดการใน 3 ลักษณะด้วยกัน

  • วิธีการใหม่ในการผลิตสินค้าและบริการ
  • วิธีการใหม่ในการกระจายสินค้า
  • วิธีการใหม่ในการสื่อสารกับตลาดเป้าหมาย

ปัจจัยด้านเทคโนโลยีอาจส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าหรือไม่เข้าสู่อุตสาหกรรมบางประเภท เมื่อคุณรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้งคุณอาจจะสามารถป้องกันไม่ให้บริษัทของคุณจ่ายเงินจำนวนมากไปกับเทคโนโลยีที่อาจจะล้าสมัย

ปัจจัยทางเทคโนโลยี ที่ควรนำมาพิจารณาให้เหมาะสมกับธุรกิจคุณ

  • ระบบอัตโนมัติ
  • ระดับของนวัฒกรรม
  • โครงสร้างพื้นฐานของอินเตอร์เน็ต
  • โครงสร้างของซัพพลายเชนด้านชิ้นส่วนเซ็นเซอร์
  • วงจรชีวิตของเทคโนโลยี
  • กิจกรรม R&D
  • การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

Environmental : ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลต่อธุรกิจบางประเภท สิ่งแวดล้อมในแง่มุมของ PESTLE มีความสำคัญอย่างยิ่งกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การทำฟาร์มเกษตร การประมง เป็นต้น นอกจากนี้การทำธุรกิจยังต้องวิเคราะห์สภาพแวดล้อมอื่นประกอบอีก เช่น สภาพภูมิอากาศ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลก การชดเชยด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ

พารามิเตอร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาผลกระทบของโครงการ อย่างเช่น หากพื้นที่นั้นเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวควรสร้างอาคารคอนกรีตหรือไม่ หรือ หากพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมควรวางแผนการระบายน้ำกำหนดรูปแบบอย่างไร

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ที่ควรนำมาพิจารณาให้เหมาะสมกับธุรกิจคุณ

  • สภาพอากาศ
  • สภาพภูมิประเทศ
  • มลพิษทางน้ำและอากาศ
  • มาตรฐานการรีไซเคิล
  • นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
  • การสนับสนุนพลังงานสะอาด

 

Legal : ปัจจัยด้านกฎหมาย

ปัจจัยด้ายกฎหมาย กับ ปัจจัยด้านการเมือง จะมีความคลุมเครือและคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความต่างที่แยกได้ชัด ในบริบทของ PESTLE Analysis ปัจจัยทางด้านกฎหมายเกี่ยวข้องกับมาตราที่กฎหมายระบุไว้ เป็นสิ่งที่กำหนดว่าธุรกิจสามารถทำได้หรือไม่สามารถทำได้ ส่วนปัจจัยทางการเมืองเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับรัฐบาล แต่ถ้าหากว่าปัจจัยทางการเมืองกดดันให้สภาออกกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ปัจจัยด้านการเมืองและกฎหมายก็จะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

ปัจจัยด้านกฎหมายมีทั้งส่วนของภายนอกและภายใน กฎหมายบางฉบับส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ในบางประเทศกฎหมายจะส่งผลถึงรูปแบบการบริหารจัดการภายใน คุณควรพิจารณาปัจจัยทางด้านกฎหมายอย่างรอบครอบ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรฐานด้านความปลอดภัย หรือ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ปัจจัยด้านกฎหมาย ที่ควรนำมาพิจารณาให้เหมาะสมกับธุรกิจคุณ

  • กฎหมายต่อต้านการผูกขาด
  • กฎหมายการจ้างงาน
  • กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
  • กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  • กฎหมายลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร
  • กฎหมายการเลือกปฎิบัติ
  • กฎหมายด้านสุขภาพและความปลอดภัย

 

Ethics : จริยธรรม หรือ จรรยาบรรณ

การเพิ่มตัวอักษรล่าสุดของ PESTEL Analysis คือ การเติม E : Ethics ที่แปลว่าจริยธรรมเข้ามา ทำให้กลายเป็น PESTELE ปัจจัยด้านจริยธรรม อาจรวมถึง หลักจรรยาบรรณ หลักศีลธรรม ที่เกิดขึ้นในธุรกิจ โดยพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ เช่น การค้าที่เป็นธรรม การใช้แรงงานทาส การกดขี่แรงงาน การใช้แรงงานเด็ก ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมของฝ่าย CSR

บทความที่เกี่ยวข้อง : Business Ethics คือ เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ จริยธรรมทางธุรกิจ

การใช้งาน PESTLE Analysis 

ขั้นตอนที่ 1 – ระบุ PESTEL แต่ละปัจจัย

ในขั้นตอนแรกของการระบุ PESTLE  คือ การระดมความคิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทีมภายในบริษัท หรือขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก ลิสต์แต่ละปัจจัยออกมาเป็นข้อๆ ยิ่งระดมความคิดออกมาได้มากยิ่งส่งผลดีต่อการวางกลยุทธ์

 

ขั้นตอนที่ 2  – ระบุผลกระทบต่อธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้น

นำปัจจัยที่ระบุไว้จากขั้นตอนที่ 1 มาวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อธุรกิจของคุณ ให้จัดอันดับโดยพิจารณาผลกระทบตามช่วงเวลา (ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว) รวมถึงจำแนกผลกระทบตามประเภท (ผลกระทบเชิงบวก หรือ ผลกระทบเชิงลบ)

 

ขั้นตอนที่ 3  – ให้คะแนนผลกระทบและความเป็นไปได้

เมื่อคุณได้จัดอันดับจากขั้นตอนที่ 2 แล้ว นำแต่ละอันดับมาให้คะแนนตามน้ำหนักของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจ เช่น ผลกระทบ สูง หรือต่ำ และอัตราความเป็นไปได้ที่จะเกิด สูง หรือ ต่ำ

 

ขั้นตอนที่ 4  – นำไปพิจารณาเพิ่มเติม (สำหรับการวางกลยุทธ์)

อย่างที่กล่าวไปตอนต้น การวิเคราะห์ PESTLE Analysis คือ การวิเคราะห์เฉพาะปัจจัยภายนอกเท่านั้น ดังนั้นคุณควรนำปัจจัยที่วิเคราะห์ได้ไปพิจารณาควบคู่กับการวิเคราะห์ SWOT Analysis ที่เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน (จุดอ่อน – จุดแข็ง) เพื่อหาว่าคุณจะใช้โอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างไรภายใต้ข้อได้เปรียบที่คุณมี และสร้างแนวป้องกันอย่างไรภายใต้จุดอ่อนของคุณ เพื่อการวางกลยุทธ์ของธุรกิจต่อไป

SWOT

บทความที่เกี่ยวข้อง : SWOT คือ แนะนำหลักการใช้ SWOT Analysis ในการวิเคราะห์ธุรกิจ

ข้อดีของ PESTLE Analysis

การวิเคราะห์ PESTLE มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ด้านการตลาด รวมถึงการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับองค์กร การเข้าใจถึงต้นทุน รวมถึงการรับรู้ถึงภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้น ถือเป็นประโยชน์หลักของ PESTLE

  • ลดค่าใช้จ่าย : เวลาและความพยายามเป็นต้นทุนเดียวที่คุณจะเสียในการวิเคราะห์ PESTLE
  • ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น : ในความเป็นจริงการวิเคราะห์ PESTLE อาจไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจของคุณ แต่ช่วยให้คุณมองมิติทางธุรกิจได้รอบด้านและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ องค์กรส่วนใหญ่มักมองข้ามเรื่องของ กฎหมายด้านความปลอดภัย หรือมิติด้านข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค
  • ใช้ประโยชน์จากโอกาส :  PESTLE Analysis คือ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อประเมินถึงโอกาสและภัยคุกคาม ซึ่งจะช่วยให้องค์กรเข้าใจแนวโน้มภายนอก ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ปัจจัยด้านสังคม อาจทำให้คุณเห็นถึงโอกาสจาก โซเชียลมีเดีย ว่าเกิดกระแสบางอย่างแล้วองค์กรของคุณมีสินค้าหรือบริการที่สามารถใช้กระแสนี้เพื่อเติบโตได้ จะช่วยให้คุณเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น รวมถึงการสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆจากตลาดเดิมที่เคยมี

สรุป

PESTEL Analysis คือ กรอบเชิงกลยุทธ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินงานขององค์กร ฝ่ายบริหารใช้ผลการวิเคราะห์นี้เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ทั้งการวางแผนทางธุรกิจ การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ วางแผนองค์กร เพียงแต่หลังจากวิเคราะห์แล้ว ควรมีการนำปัจจัยไปวิเคราะห์และวางแผนร่วมกับเครื่องมืออื่น เพื่อต่อยอดกลยุทธ์และแผนขององค์กร หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ในการใช้งาน PESTEL นะครับ

 

  • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
  • ข้อมูลอ้างอิง 1 / 2 / 3 / 4 / 5/ 6

เกี่ยวกับเรา

logo Orderbride

เว็บไซต์บทความความปลอดภัยในการทำงาน ที่ช่วยเติมเต็มความรู้ด้านความปลอดภัยของคุณในทุกวัน

เรื่องน่าสนใจ

@2023 – All Right Reserved. Designed and Developed by Orderbride