แนะนำ 5 เว็บ ขายของออนไลน์ เพื่อเพิ่มยอดขายแบบยั่งยืน

by goodmaterial
ขายของออนไลน์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก จากที่เคยไปเดินตามตลาดหรือเดินห้างเพื่อช้อปปิ้ง ปัจจุบันการซื้อของแบบออนไลน์แทบจะเป็นทางเลือกแรกๆของนักช้อปหลายคน ผู้บริโภคสามารถหาสินค้าและมีเวลาอ่านรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างสบายใจ ไปจนถึงกระบวนการสั่งซื้อสินค้าให้มาส่งถึงที่บ้านก็ล้วนทำได้ง่ายๆผ่านมือถือ พ่อค้าแม่ค้าหลายคนจึงเริ่มมีการปรับตัวมาขายแบบออนไลน์เพิ่มขึ้นอีกทาง หรือบางรายอาจจะเปลี่ยนมาขายแบบออนไลน์เป็นหลักอย่างเดียวเลยก็มี ในบทความนี้ Good Material จะมาแนะนำสิ่งที่ควรรู้ขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ที่กำลังอยากจะเริ่ม ขายของออนไลน์ พร้อมรวบรวม เว็บขายของออนไลน์ ที่กำลังเป็นที่นิยมพร้อมระบบที่จะช่วยบริหารการขายให้มียอดแบบพุ่งกระฉูด

ก่อนที่เราอยากจะขายสินค้าอะไรซักอย่าง ควรตั้งคำถามให้กับตัวเอง 2 ข้อหลักๆเลยก็คือ

  • What : ขายอะไร
  • Who : ขายใคร

What : ขายของออนไลน์ ขายอะไรดีนะ?

สิ่งสำคัญของการขายคือ เราต้องมีสินค้าที่จะนำไปขาย ซึ่งหลักการเลือกว่าเราจะขายอะไรมีหลักการง่ายๆอยู่ 2 อย่างดังนี้

  1. เลือกสิ่งที่เรารู้จัก มีความรู้ และมีความถนัด : การเลือกสินค้าที่เรามีความรู้และรู้จักมันเป็นอย่างดี จะทำให้เราได้เปรียบคู่แข่งตรงที่เราสามารถนำเสนอการขายได้อย่างเต็มที่และให้คำแนะนำแก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี อาจนำไปสู่การปิดการขายในที่สุด
  2. เลือกสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด : สถิติของสินค้าที่มีการซื้อแบบออนไลน์ 5 อันดับแรกคือ

1) เสื้อผ้าแฟชั่น 55%

2) เครื่องสำอาง 43%

3) จองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน 39%

4) โทรศัพท์มือถือและสินค้าไอที 38%

5) สื่อการเรียนและสื่อบันเทิง 34%

สถิติการซื้อของออนไลน์จากเว็บ Paypal

Info credit: brandbuffet

จากสถิติเบื้องต้น ก็อาจจะพอเป็นไอเดียให้เพื่อนๆที่กำลังมองหาสินค้าสำหรับ ขายของออนไลน์ แต่ก็ใช่ว่าการเลือกขายสินค้าจาก 5 อันดับนี้เป็นการการันตีว่าจะขายดีแน่นอน เพราะการขายให้ประสบความสำเร็จแบบเทน้ำเทท่ายังต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของสินค้าที่เราเลือก การนำเสนอสินค้า หรือแม้แต่พื้นที่ที่เราไปลงขายสินค้าเหล่านั้น

หลังจากตัดสินใจได้แล้วว่าจะขายอะไร ก็มองหาแหล่งขายส่งสินค้าที่เราต้องการจะขาย และเพื่อเป็นการบริหารต้นทุนอย่างคุ้มค่าควรสำรวจแหล่งขายส่งสินค้าจากหลายๆแหล่งให้ตรงตามความต้องการของเรามากที่สุด ซึ่งการซื้อจากแหล่งขายส่งจะทำให้เราได้ราคาต่อหน่วยที่ต่ำ อ้างอิงตามหลักเศรษฐศาสตร์

Economy of Scale การสั่งซื้อหรือผลิตสินค้าในจำนวนมากๆต้นทุนต่อหน่วยก็จะลดลง

เพราะฉะนั้นการเริ่มหาของมาขายในครั้งแรกควรเริ่มจากสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งก่อน จะขายเสื้อผ้าก็เน้นเสื้อผ้าหรือจะขายเครื่องประดับก็ควรเน้นเครื่องประดับ เพื่อไม่ให้ต้นทุนของเราไปจมกับการสต๊อกสินค้าที่มากจนเกินไป หรือสำหรับใครที่มีหน้าร้านอยู่แล้ว ก็ควรนำสินค้าที่มีมาเพิ่มช่องทางการขายแบบออนไลน์ เพื่อเป็นการบริหารต้นทุนได้อย่างคุ้มค่ากว่าการขายแบบออฟไลน์เพียงช่องทางเดียว

แหล่งขายส่งสินค้า

สำเพ็ง : แหล่งขายส่งสินค้าทั่วไปโดยเฉพาะเครื่องประดับ กระเป๋า เครื่องสำอาง และสินค้ากิ๊ฟช็อป

พาหุรัด : แหล่งขายผ้าและอุปกรณ์ทุกชนิดสำหรับตัดเย็บเสื้อผ้า

เสือป่า : แหล่งขายส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะเคสโทรศัพท์มือถือ

ประตูน้ำ, แพลตตินั่ม : แหล่งขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่น รองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับ แต่จะเน้นเสื้อผ้าแฟชั่นเป็นหลัก

จตุจักร : แหล่งขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่น รองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับ

 

สั่งผลิตจากโรงงาน : หากใครอยากได้สินค้าที่ตรงตามความต้องการของเราแบบเป๊ะๆ การสั่งผลิตจากโรงงานก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเราจะสามารถควบคุมวิธีการและคุณภาพได้มากขึ้น แต่ก็ต้องแลกมากับต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน (ต้นทุนต่อหน่วยจะถูกแต่ต้องสั่งผลิตต่อครั้งในปริมาณที่เยอะนั่นเอง)

สั่งจากเว็บจีน Alibaba เว็บขายส่งสินค้าแบบ B2B (Business to Business) เป็นเว็บที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ไม่เพียงสินค้าที่ผลิตในประเทศจีนเท่านั้น ยังมีสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตทั่วโลกมาลงขายในเว็บนี้ด้วย แต่ข้อควรระวังคือ สินค้าที่ได้อาจจะไม่ค่อยตรงตามรูปซักเท่าไหร่และความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ผลิตแต่ละรายนั่นเอง

ขายของออนไลน์

Alibaba website

 

Who : ขายใคร?

ตั้งคำถามให้ตัวเองว่าสินค้าของเราเน้นขายคนกลุ่มไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า (Who) หลังจากนั้นเราก็จะเลือกช่องทางการขายได้ง่ายมากยิ่งขึ้น (Where) ช่องทางการขายแบบออนไลน์ในปัจจุบันมีหลายช่องทางมากๆ ถ้าดูจากพฤติกรรมของคนขายส่วนใหญ่จะเน้นที่ความง่ายในการเข้าถึงลูกค้า ซึ่งช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายสุดเลยก็คือ Facebook, Instagram ไปจนถึงการมีเว็บไซต์เป็นหน้าร้านของตัวเองซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์สินค้า แต่ก็เป็นวิธีที่ยุ่งยากอยู่พอสมควรสำหรับผู้ขายที่เพิ่งจะเริ่มต้น ดังนั้นการ ขายของออนไลน์ ผ่าน Facebook, Instagram หรือเว็บ Market Place อย่างเช่น Lazada, Shopee จึงเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมของเหล่าพ่อค้าแม่ค้ามากที่สุด

1. Facebook Fanpage /Instragram

Facebook เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก ซึ่งการสร้างหน้า Fanpage สำหรับขายของก็ทำได้ง่ายมากเพียงกดไม่กี่คลิ๊ก แต่สิ่งที่ยากสำหรับการทำ Fanpage นั่นก็คือ จะทำยังไงให้ลูกค้าเข้ามาหน้าเพจของเราจนถึงขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้า เพราะพี่มาร์คนับวันก็จะเกรี้ยวกราดกับผู้ใช้ Facebook ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งลดการเข้าถึงหน้า Fanpage แทบจะไม่ถึง 5% ในกรณีที่ยังไม่ได้ยิงโฆษณา จึงไม่แปลกที่ในปัจจุบันคนทำ Fanpage เลือกวิธีการจ่ายเงินค่าโฆษณาให้กับ Facebook หรือ Instagram เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เราต้องการให้มากที่สุด และแนวโน้มเรื่องต้นทุนค่าโฆษณาก็ดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นใครที่งบยังไม่มากพอ เราก็จะแนะนำให้ขายกับเว็บ Market Place อื่นๆก่อนมาลงทุนยิงโฆษณาขายของใน Facebook หรือ Instagram

แนะนำฟังก์ชั่นต่างๆสำหรับการขายของใน Facebook

  • Facebook live : LIVE ขายสินค้าโดยการแชร์ไปยังกลุ่มขายสินค้าประเภทนั้นๆ
  • Facebook Group : เป็นการรวมกลุ่มของคนที่สนใจจะขายกับคนที่สนใจจะซื้อสินค้าประเภทเดียวกันให้มาอยู่ร่วมกัน อย่างเช่น Group “ห้องจริง 3 ล้าน แบ่งปัน dress สวย ราคาเบาๆ by นังนู๋ใบชา” เป็นกลุ่มซื้อขายสินค้าโดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นของผู้หญิง
  • Facebook Market Place : ตลาดขายสินค้าที่สร้างโดย Facebook โดยเราสามารถโพสขายของได้เหมือนเว็บ Market Place อื่นๆ พร้อมทั้งแชร์อัตโนมัติไปยัง Facebook Group ที่เราต้องการได้ในทีเดียว
  • Facebook Ad : ฟังก์ชั่นการยิงโฆษณาเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อสินค้าที่เราต้องการ

 

2. Lazada

(Lazada.co.th)

Lazada เป็นเว็บ Market Place ที่มีคนเข้ามากที่สุดในประเทศไทย โดยมียอดคนเข้าเว็บรวมกับยอดเข้า Application เฉลี่ยมากถึง 37 ล้านครั้งในแต่ละเดือน Lazada เปรียบเสมือนตลาดขนาดยักษ์ที่ให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันได้ง่ายมาก ตลาดที่มีคนมาเดินเยอะก็ย่อมมีโอกาสที่จะขายของได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น Lazada จึงเป็นที่ที่ดีที่สุดสำหรับคนที่จะเริ่ม ขายของออนไลน์ ซึ่งขั้นตอนการสมัครขายของบน Lazada ทำได้ง่ายๆตามขั้นตอนนี้เลยค่ะ

1.เข้าเว็บ Lazada.co.th คลิ๊ก SIGNUP หรือ log in หากเป็นสมาชิกอยู่แล้ว

ขายของออนไลน์  เว็บขายของออนไลน์

2.ทำการกรอกข้อมูลสำหรับสมัครสมาชิก

3.หลังจากกรอกข้อมูลและ SIGN UP เรียบร้อยแล้ว ให้คลิ๊กคำว่า “Sell on Lazada” (ตามวงกลมสีส้ม)

4.เลือกว่าจะสมัครด้วยบัญชีร้านค้าหรือจะสมัครด้วยบัญชีลูกค้า

ขายของออนไลน์

5.กรอกข้อมูลสำหรับสมัครสมาชิกเพื่อการขายของ

6.หลังจากใส่ข้อมูลเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อย นี่คือหน้าแรกของระบบสำหรับการขาย

7.หน้าระบบหลังร้านสำหรับผู้ขาย เพื่อทำการจัดการและดูแลหน้าร้านของเราบน Lazada ได้ตามใจชอบ

เพียงเท่านี้เราก็สามารถลงสินค้าเพื่อขายผ่านเว็บขายของออนไลน์ แถมเป็นเว็บที่มีคนเข้ามาหาซื้อสินค้ามากที่สุดในประเทศอีกด้วย แต่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเลยก็คือ การนำเสนอรูปของสินค้าที่ดีเป็นอีกหนึ่งทางในการเพิ่มยอดขายแบบพุ่งกระฉูดเช่นกัน (แต่คุณภาพก็ต้องดีสมราคาด้วยนะคะ)

 

3. Shopee

 (Shopee.co.th)

Shopee เป็นเว็บ Market Place เช่นเดียวกับ Lazada แหล่งซื้อขายออนไลน์ที่มีคนเข้ามาหาซื้อสินค้ามากเป็นอันดับสองรองจาก Lazada โดยมียอดคนเข้าเว็บเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 21.9 ล้านครั้งต่อเดือน และที่สำคัญ Shopee ยังได้ทำการโปรโมทโดยใช้พรีเซนเตอร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทยอย่าง ณเดช และ ญาญ่า ที่มีประโยคพูดติดปากว่า “รู้กันแค่นี้นะ Shopee ส่งฟรีทั่วไทย” ยังไม่รวมถึงเพลงโปรโมท Shopee ที่ติดหูมากๆจากการใช้ทำนองเพลง Baby Shark

มาถึงขั้นตอนการสมัครขายของบน Shopee กันบ้างว่าต้องทำอย่างไร

1.เข้าเว็บ Shopee.co.th คลิ๊กคำว่า “Sale/ขาย” มุมบนด้านซ้ายเพื่อเข้าหน้าสมัครสมาชิก หรือถ้ามีบัญชีที่ใช้ตอนซื้อของอยู่แล้ว ก็คลิ๊ก log in เข้าสู่ระบบได้เลย

ขายของออนไลน์

2.กรอกข้อมูลเพื่อสมัครสมาชิกใหม่

3.เข้าสู่ Seller Centre และระบบหลังร้านของ Shopee

ระบบ Market Place เจ้าใหญ่ในประเทศอย่าง Lazada และ Shopee จะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ขายของได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งสองบริษัทต่างต้องการดึงคนเข้าเว็บ จึงมีการโปรโมทและแข่งขันกันอย่างดุเดือด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้ขายทุกรายอย่างแน่นอน และยังมีในเรื่องของ CODE Promotion ต่างๆที่ช่วยให้ผู้ขายสามารถนำไปปิดการขายได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะต้องเลือกว่าจะ ขายของออนไลน์ ที่ไหนดี ขอแนะนำว่าไม่ต้องเลือก ให้ลองสมัครทั้ง 2 ที่เลยก็ได้ค่ะ เพราะจะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงร้านค้าของเราได้หลายช่องทางมากขึ้นนั่นเอง

ขายของออนไลน์

Lazada vs Shopee

Photo credit: similarweb

 

4. Weloveshopping.com

(Weloveshopping.com)

คอนเซ็ปต์ของ Weloveshopping.com คือ “เว็บไซต์ช้อปปิ้งที่ครองใจนักช้อปออนไลน์มากว่า 10 ปี ด้วยสินค้าที่มีหลากหลายประเภทรวมกว่า 2 ล้านชิ้นดึงดูดขาช้อปกว่า 800,000 คน ให้แวะเวียนเข้ามาเลือกสินค้าโดนใจมากกว่า 40,000 ร้านค้า พร้อมทั้งมีบริการ WeTrust Guarantee ระบบการชำระค่าสินค้าที่มั่นใจได้ทุกการใช้จ่ายว่าจะได้รับสินค้าแน่นอนหรือได้รับค่าสินค้าคืน 100%

Weloveshopping.com มีความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ระบบหลังบ้านของเว็บมีโครงสร้างในการช่วยให้ร้านค้าของเราง่ายต่อการทำ SEO (Search Engine Optimization) หรือเรียกง่ายๆว่าระบบที่ทำให้ติดการค้นหาในหน้า Google คือนอกจากจะได้ลูกค้าที่เข้ามาในเว็บ Weloveshopping.com โดยตรงแล้ว ในระยะยาวหน้าร้านของเราก็มีโอกาสหาเจอได้ง่ายๆบนหน้า Google อีกด้วย

ขั้นตอนการสมัครขายของบน Weloveshopping.com ทำได้ดังนี้

1.เข้าเว็บ Weloveshopping.com และคลิ๊กที่มุมบนด้านขวา “เปิดร้านค้าฟรี”

ขายของออนไลน์

2.หน้าถัดไปจะเจอส่วนของการอธิบายว่ามีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง และคลิ๊ก “เปิดร้านค้าฟรี” อีกครั้ง

3.เลือกการสมัครในนาม บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล(แบบบริษัท)

4.ถ้าเป็นสมาชิกอยู่แล้วสามารถ log in จากบัญชีเดิมได้เลย หรือถ้ายังไม่เป็นสมาชิกก็ให้สมัครบัญชีใหม่

5.กรอกข้อมูลของเราให้ครบถ้วน ทั้งข้อมูลส่วนตัว ชื่อร้าน พร้อมอัพโหลดบัตรประจำตัวประชาชน

6.เข้าสู่ระบบหลังร้านเป็นที่เรียบร้อย สามารถจัดการร้านค้าเพื่อลงขายได้เลย

ปกติเราสามารถสมัครขายของบน Weloveshopping ได้ฟรี แต่ถ้าเราอยากมีร้านค้าที่ดูเป็นเอกลักษณ์ในแบบของเรามากยิ่งขึ้น ทางเว็บก็มีแพคเกจ YouStore ให้เราใช้ระบบบางส่วนของเว็บในการจัดการร้านค้าและสินค้าแบบมืออาชีพในสไตล์ของเราเอง อย่างเช่นฟังก์ชั่น Template (รูปแบบหรือหน้าตาของเว็บไซต์) ที่เราสามารถกำหนดได้เองตามใจชอบ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สำเร็จรูป YouStore

 

5. lnwshop 

(lnwshop)

คอนเซ็ปต์ของ lnwshop (เทพช้อป) คือ “เว็บที่มีระบบร้านค้าออนไลน์อันดับหนึ่งของประเทศ ให้คุณขายของออนไลน์ได้แบบมืออาชีพ ด้วยเครื่องมือและระบบสำหรับพ่อค้าแม่ค้าคนไทยโดยเฉพาะ ใช้ง่ายเหมือนเล่น Facebook, Line พร้อมให้มีหน้าร้าน .com ของตนเอง สร้าง Brand ไปพร้อมการเติบโตของ Social และ Chat Commerce

หน้าตาของร้านจะคล้ายๆกับเว็บของ Weloveshopping และต้องยอมรับจริงๆว่าระบบหลังร้านของ lnwshop เค้าเทพสมชื่อจริงๆ แถมยังมีบริการจัดการหน้าร้านให้ผู้ขายหากต้องการมี URL ร้านเป็นของตัวเองอีกด้วย อย่างเช่น www.ziastyle.com เป็นต้น คล้ายๆมีเว็บขายสินค้าเป็นของตัวเองประมาณนั้นเลย

ขั้นตอนการสมัครขายของบน lnwshop.com ทำได้ดังนี้

1.เข้าเว็บ lnwshop.com คลิ๊กที่มุมบนขวา “เปิดร้านค้าฟรี”

 เว็บขายของออนไลน์

2.คลิ๊ก “สมัครสมาชิก(ฟรี)” โดยเราสามารถเชื่อมต่อกับ Facebook ได้ด้วย

 เว็บขายของออนไลน์ lnwshop

3.ตั้งชื่อร้านและสโลแกนของร้าน

 เว็บขายของออนไลน์ lnwshop

4.ใส่เบอร์โทรศัพท์ อีเมล หรือไอดีไลน์ สำหรับการติดต่อ

 เว็บขายของออนไลน์ lnwshop

 

5.เลือก Theme ของร้าน (จะมีให้เลือกใช้ free อยู่ประมาณ 10 แบบ)

 เว็บขายของออนไลน์ lnwshop

6.ขั้นตอนการเปิดร้านเสร็จสิ้น คลิ๊กที่ “เข้าสู่ร้าน” ได้เลย

 เว็บขายของออนไลน์ lnwshop

7.เข้าสู่ระบบหลังร้าน (ก่อนเริ่มใช้งานจะมีบริการแนะนำการใช้งานให้ด้วย)

สำหรับเวอร์ชั่นฟรี URL ของร้านจะเป็นแบบนี้ http://ziastyle.lnwshop.com/ แต่ถ้าใครอยากได้ชื่อ Domain เป็นของเราเอง ทางเว็บจะมีบริการจดชื่อโดเมนและบริการอื่นๆ อย่างเช่น บริการ Google Ads หรือบริการออกแบบหน้าร้าน เพื่ออัพเกรดให้ร้านค้าของเรามีความเทพสมชื่อเว็บ lnwshop ถ้าเพื่อนๆอยากรู้ข้อมูลเวอร์ชั่นอัพเกรดนี้ ศึกษาต่อได้ที่ lnwshop

สังเกตได้เลยวว่า Weloveshopping กับ lnwshop จะมีแนวทางที่คล้ายๆกัน แต่จะต่างกันในเรื่องของบริการเสริมต่างๆที่มีให้แก่ผู้ขาย ทั้งสองเว็บจึงเป็นเว็บที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆในประเทศไทย สำหรับผู้ขายที่อยากมี URL ร้านค้าเป็นของตัวเอง เพราะนอกจากจะทำให้แบรนด์ดูมีความหน้าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ระบบการจัดการร้านค้าก็สามารถจัดการในสไตล์ที่เป็นเราได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

Weloveshopping vs lnwshop

Weloveshopping vs lnwshop

Photo credit: similarweb

 

WordPress & WooCommerce

(Wordpress.org & WooCommerce)

Wordpress เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างเว็บไซต์ที่นิยมเป็นอันดับต้นๆของโลก โดยการสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มต้นขายของออนไลน์เป็นวิธีที่ยังไม่แนะนำเท่าไหร่ เพราะกว่าจะออกมาเป็นเว็บไซต์ที่สมบูรณ์แบบต้องอาศัยความรู้และเทคนิคมากมายในการสร้างเว็บไซต์ ซึ่งจะไม่ได้ง่ายเหมือนที่เราเคยใช้ตามระบบของ Weloveshopping หรือ lnwshop

แต่ถ้าวันหนึ่งเมื่อธุรกิจของเพื่อนๆมียอดขายเติบโตถึงขั้นมีกำลังมากพอจะจ้างผู้เชี่ยวชาญทำเว็บไซต์ เราขอแนะนำว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองอย่างแท้จริง เราจะจัดการทุกอย่างได้อย่างอิสระ แถมมีฟังก์ชั่นมากมายให้เราได้เลือกออกแบบเว็บไซต์อีกด้วย โดยเฉพาะระบบ WooCommerce ที่เป็นระบบการจัดการเรื่องการซื้อขายสินค้าของเว็บเรา พูดง่ายๆคือ เว็บไซต์นี้จะถูกควบคุมโดยตัวเราทั้งหมด และหมดห่วงเรื่องการที่เจ้าของเว็บตัวจริงเค้าจะปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นต่างๆแบบไม่ปรึกษาเรา

องค์ประกอบคร่าวๆของการสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองมีดังนี้

ตัวอย่างเว็บไซต์ eCommerce ที่ใช้ Wordpress+WooCommerce : Allblackshop

 

www.ziastyle.co ที่เพื่อนๆกำลังอ่านอยู่นี้ ก็เป็นเว็บไซต์ที่สร้างจาก WordPress หากในอนาคตเรามีแพลนที่จะขายสินค้าก็ทำได้ง่ายๆเพียงแค่เพิ่ม Shop จาก PlugIn WooCommerce เพียงเท่านี้ก็มีร้านค้าแบบ eCommerce เป็นของตัวเองแล้ว

บทสรุป…ขายของออนไลน์

ธุรกิจออนไลน์มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นทุกๆปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ง่ายขึ้นเรื่อยๆ แถมไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนในทุกๆวัยอีกด้วย รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก ผู้ซื้อมีทางเลือกให้ช้อปมากขึ้นโดยเฉพาะช่องทางแบบออน์ไลน์ เพราะสินค้าบางชนิดแค่หารีวิวอ่านก็สามารถตัดสินใจซื้อได้โดยไม่ต้องไปเห็นของจริงเลยด้วยซ้ำ

หวังว่าเพื่อนๆที่กำลังวางแผนหรือกำลัง ขายของออนไลน์ อยู่แล้ว จะได้ประโยชน์จากการอ่านบทความของเรา และอย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ความรู้ดีๆแบบนี้ให้เพื่อนๆที่อยากขายของลองอ่านกันด้วยนะคะ :D

 

 

  • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
  • Featured image: PIXABAY

You may also like

Copyright © 2023 สงวนสิทธิ์ทุกประการ Good Material