spot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

Critical Thinking: ขั้นตอนสำคัญในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

1.Critical-Thinking-jorportodayCritical Thinking คือ ทักษะชีวิตอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญกับทุกคน เป็นกระบวนการคิดซึ่งเป็นทักษะที่สามารถฝึกกันได้ หากเราฝึกคิดอย่างมีเหตุมีผลหรือมีการจัดลำดับความคิด ไม่ใช้เพียงแต่อารมณ์กับความรู้สึกในการจัดการสิ่งต่างๆที่คุณเผชิญในแต่ละวัน จะช่วยให้คุณเข้าใจและจัดการกับสถานการณ์ตามข้อเท็จจริง หรือตามข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อมองหาปัญหาและพัฒนาเป็นวิธีแก้ปัญหาได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของคุณได้อีกด้วย

Critical Thinking คือ

Critical Thinking คือการคิดอย่างมีเหตุผล การคิดวิเคราะห์ หรือการใช้วิจารณญาณในการคิดเรื่องต่างๆ เป็นการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเพื่อทำความเข้าใจปัญหาหรือเรื่องราวอย่างละเอียด โดยทั่วไปกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล (Critical Thinking) จะรวมถึงขั้นตอนต่างๆ เช่น การรวบรวมข้อมูล ข้อมูลจากการถามคำถาม และวิเคราะห์วิธีแก้ปัญหา เช่น หากคุณทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคล และต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพนักงานสองคน คุณจะใช้กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลเพื่อทำความเข้าใจลักษณะของความขัดแย้ง และคุณจะรู้ว่าควรดำเนินการแก้ไขอย่างไร

เมื่อเกิดปัญหาในที่ทำงาน คุณอาจต้องใช้กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลในการดำเนินการ ดังนี้

  • ระบุปัญหาที่เกิดขึ้น
  • ลองคิดว่าเหตุใดปัญหาจึงเกิดขึ้นและจะแก้ไขได้อย่างไร
  • รวบรวมข้อมูลหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่ผ่านการวิจัย
  • จัดระเบียบ จัดเรียงข้อมูลและสิ่งที่ค้นพบ
  • พัฒนาและดำเนินการแก้ปัญหา
  • วิเคราะห์ว่าโซลูชันใดใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผล
  • ระบุวิธีปรับปรุงโซลูชันนั้น

5 ทักษะที่ต้องมีเพื่อการคิดวิเคราะห์

ทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีเหตุผล หรือ Critical Thinking เป็นสิ่งจำเป็นในทุกอุตสาหกรรม ทุกระดับอาชีพตั้งแต่ผู้ร่วมงานระดับเริ่มต้นไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง เป็นทักษะการคิดที่สามารถนำมาใช้แทนที่อารมณ์และอคติเมื่อคุณกำลังคิดถึงสถานการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งข้อดีหลักๆของ Critical Thinking คือช่วยเพิ่มมุมมองของคุณเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ และเพิ่มโอกาสหรือความเป็นไปได้ทางความคิดมากขึ้นด้วย คุณสามารถเริ่มฝึกจากทักษะง่ายๆดังต่อไปนี้

1.ทักษะการสังเกต

การสังเกตเป็นจุดเริ่มต้นของทักษะการคิดวิเคราะห์ คนที่ช่างสังเกตสามารถรับรู้และระบุปัญหาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าใจว่าเหตุใดสิ่งนั้นอาจเป็นปัญหาได้ และบางครั้งพวกเขาสามารถคาดเดาได้ว่า ปัญหาอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก่อนที่มันจะเกิดขึ้นตามประสบการณ์ของพวกเขา

วิธีพัฒนาทักษะการสังเกต : ลดความเร็วในการประมวลผลข้อมูลและฝึกตัวเองให้ใส่ใจสิ่งรอบข้างมากขึ้น อาจเริ่มจากการฝึกตัวเองให้มีสติ ตั้งใจฟังทั้งในระหว่างทำงานและนอกเวลาทำงาน เพื่อที่จะได้ตรวจสอบในสิ่งที่คุณเห็นหรือได้ยินอย่างละเอียดมากที่สุด จากนั้นค่อยพิจารณาว่า สิ่งที่คุณสังเกตได้อาจเป็นประโยชน์ต่อคุณหรือทีมของคุณหรือไม่

2.ทักษะการวิเคราะห์

เมื่อสามารถระบุปัญหาได้แล้ว ทักษะการวิเคราะห์จึงจะเข้ามามีบทบาท ความสามารถในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์อย่างมีประสิทธิผล รู้ว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริงหรืออะไรเป็นข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่สำคัญ ซึ่งการวิเคราะห์นี้มักรวมไปถึงการรวบรวมการวิจัยที่เป็นกลาง การถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้องและเป็นกลาง

วิธีพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ : การได้รับประสบการณ์ใหม่ๆสามารถช่วยเพิ่มทักษะการวิเคราะห์ได้ เช่น คุณอาจจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดที่คุณไม่คุ้นเคย หรือการหากิจกรรมใหม่ๆทำร่วมกับผู้อื่น การกระทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณสร้างทักษะการตีความข้อมูลใหม่ และตัดสินใจอย่างมีเหตุผลโดยอาศัยการวิเคราะห์มากขึ้น

3.ทักษะการอนุมาน

เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสรุป เป็นการสรุปข้อมูลที่คุณได้รวบรวมซึ่งอาจต้องใช้ความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์เฉพาะของเรื่องนั้นๆด้วย เพราะเมื่อคุณทำการอนุมานหรือทำการสรุป นั่นหมายความว่าคุณกำลังแสดงคำตอบโดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่จำกัด เช่น ช่างซ่อมรถอาจต้องอนุมานว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์รถหยุดทำงานตามข้อมูลเท่าที่มีอยู่ ซึ่งหากเป็นช่างซ่อมรถที่มีประสบการณ์ก็จะสามารถอนุมานได้ทันทีตามข้อมูลที่มีอยู่ว่าปัญหาคืออะไร

วิธีพัฒนาทักษะการอนุมาน : ให้ความสำคัญกับการคาดเดาอย่างผู้มีความรู้และไม่ต้องเร่งรีบเพื่อทำการสรุป การวิเคราะห์ต้องอาศัยเวลาเพื่อค้นหาเบาะแสให้ได้มากที่สุด อย่างเช่นรูปภาพ ข้อมูล หรือรายงาน ซึ่งอาจช่วยให้คุณสามารถประเมินสถานการณ์ได้ จากการพิจารณาข้อมูลทั้งหมดอย่างถี่ถ้วนแล้ว 

4.ทักษะการสื่อสาร

ทักษะการสื่อสาร มีความสำคัญเมื่อต้องอธิบายและอภิปรายปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้กับเพื่อนร่วมงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่น ๆ ซึ่งทักษะการสื่อสารเป็นทักษะที่ทุกคนต้องมีและต้องประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์รวมถึงการคิดวิเคราะห์ หรือ Critical Thinking ด้วย เพราะไม่เพียงแต่หาทางแก้ไขปัญหาได้เท่านั้น คุณต้องสามารถสื่อสารหรือถ่ายทอดให้ผู้ร่วมดำเนินการเข้าใจสิ่งที่คุณต้องการสื่อสารจริงๆด้วย

วิธีพัฒนาทักษะการสื่อสาร : ยกตัวอย่างการอภิปรายในหัวข้อที่คุณมีมุมมองแตกต่างออกไปเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ควรฝึกนิสัยการสื่อสารที่ดีอย่างการตั้งใจฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อพยายามทำความเข้าใจมุมมองของพวกเขา แล้วจึงค่อยๆอธิบายความคิดเห็นในมุมมองของคุณอย่างมีเหตุผล

5.ทักษะการแก้ปัญหา

ขั้นตอนสุดท้ายคือ ดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อนำวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดไปใช้ และทำความเข้าใจว่าการแก้ปัญหานั้นได้ผลตามเป้าหมายหรือไม่

วิธีพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา : โดยทั่วไปการแก้ปัญหาในที่ทำงานจะเป็นเรื่องง่ายขึ้น หากคุณมีความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับข้อมูลเฉพาะในอุตสาหกรรมของคุณ หรือการใช้ทักษะข้อแรกในการสังเกตว่าคนอื่น ๆ รอบตัวคุณแก้ปัญหาในที่ทำงานอย่างไร อาจทำการจดและถามเทคนิคจากพวกเขา เพื่อเป็นการเพิ่มข้อมูลให้กับคุณหากต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะด้าน 

เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น อาจลองทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

  • เพิ่มทักษะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหรือด้านเทคนิคของคุณ เพื่อช่วยให้สามารถระบุปัญหาได้ง่ายขึ้น
  • เรียนหลักสูตรเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของคุณที่ต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์
  • ลองอาสาช่วยแก้ปัญหาให้กับนายจ้างหรือหัวหน้าทีมของคุณ
  • ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพของคุณหรือในอุตสาหกรรมที่คุณต้องการ
  • การขอให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้จัดการประเมินทักษะการทำงานในปัจจุบันของคุณ อาจพบว่ามันมีประโยชน์ในการฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ เพื่อช่วยสร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงานของคุณได้

ประโยชน์ของ Critical Thinking คือ

1.กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น

ความอยากรู้อยากเห็นช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องต่างๆได้ลึกซึ้งมากขึ้น นักคิดวิเคราะห์ (Effective Critical Thinkers) ส่วนใหญ่มักมีความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องต่างๆอยู่เสมอ เป็นความสนใจในวงกว้างทั้งเกี่ยวกับโลกและเกี่ยวกับผู้คน พวกเขาไม่เคยหยุดถามคำถามและสนุกกับการสำรวจในทุกๆด้านของปัญหาและข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่ การเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิตจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเป็น นักคิดวิเคราะห์

นักคิดวิเคราะห์ มักตั้งคำถามเหล่านี้ :

  • เกิดอะไรขึ้น? ฉันเห็นอะไร?
  • ทำไมมันถึงสำคัญ? ใครได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้?
  • ฉันขาดอะไรไป? มีอะไรซ่อนอยู่ และทำไมจึงสำคัญ?
  • นี่มาจากไหน? ฉันจะรู้ได้อย่างไร?
  • ใครเป็นคนพูด? ทำไมฉันต้องฟังคนนี้ พวกเขาสอนอะไรฉันได้บ้าง?
  • ฉันควรพิจารณาอะไรอีกบ้าง?
  • จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…?
  • ทำไมถึงไม่ล่ะ?

2.ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์

นักคิดวิเคราะห์ ที่มีความเชี่ยวชาญมากๆมักจะเป็นนักคิดสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับคนทำงานสมัยใหม่โดยเฉพาะงานด้านการตลาด เพื่อการสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการและสร้างสรรค์วิธีการโฆษณาช่องทางต่างๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการ นำมาซึ่งผลกำไรที่มากขึ้นนั่นเอง 

คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มักตั้งคำถามหรือตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ แทนที่พวกเขาจะเอาแต่เถียงเพื่อหาคำตอบ ผู้มีความคิดสร้างสรรค์เลือกจะถามว่า “อย่างไร” หรือ “ทำไม” หรือมีความคิดอีกมุมมองหนึ่งเพื่อจะได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมา เช่น

ผู้ผลิตเริ่มตระหนักว่าเราไม่สามารถแข่งขันกับโครงสร้างด้านราคาและต้นทุนแรงงานของตะวันออกไกลได้ แล้วเราจะแข่งขันได้อย่างไร? Paul Thompson อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Cooper-Hewitt แห่งนิวยอร์ก

*ตะวันออกไกล (Far East) กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกของทวีปเอเชียซึ่งอยู่ห่างไกลจากทวีปยุโรปมาก

ที่ Sony เราถือว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของคู่แข่ง มีเทคโนโลยี ราคา ประสิทธิภาพ และคุณสมบัติเดียวกัน การออกแบบเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผลิตภัณฑ์หนึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นในตลาด  – Norio Ohga อดีตประธาน Sony และผู้ประดิษฐ์ซีดี

3.ช่วยเสริมความสามารถในการแก้ปัญหา

นักคิดวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักจะมีสัญชาตญาณอย่างนักแก้ปัญหา อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ถือเป็นนักคิดวิเคราะห์คนหนึ่งที่มีผลงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า

“It’s not that I’m so smart, it’s just that I stay with problems longer” – ฉันไม่ได้ฉลาดขนาดนั้น เพียงแค่ฉันอยู่กับปัญหานานขึ้น

และเขายังได้เคยกล่าวอีกว่า หากว่ามีเวลาให้หนึ่งชั่วโมงในการแก้ปัญหา เขาจะใช้เวลา 5 นาทีในการแก้ปัญหาและอีก 55 นาทีในการกำหนดและวิจัยปัญหา 

ความอดทนและความมุ่งมั่นในการทำความเข้าใจปัญหา คือสิ่งสำคัญในการเป็นนักคิดวิเคราะห์ที่แท้จริง และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ก็มีความสำคัญต่อการเป็นนักแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

4.ช่วยส่งเสริมทักษะหลายด้าน

การคิดวิเคราะห์ หรือ Critical Thinking เป็นเหมือนสาขาวิชาหนึ่งที่มีความหลากหลาย เป็นการปลูกฝังความสามารถทางปัญญาให้ได้คิดในหลายแง่มุม เพราะจิตใจต้องได้รับการออกกำลังกายเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อ ซึ่งการคิดวิเคราะห์ช่วยส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ เช่น

  • ส่งเสริมทักษะการใช้เหตุผลหรือการคิดอย่างมีตรรกะ 
  • ส่งเสริมทักษะการจัดการและการวางแผน
  • ส่งเสริมทักษะทางภาษาด้านการสื่อสาร
  • ส่งเสริมทักษะการประเมินตนเองและผู้อื่นอย่างมีเหตุผล
  • ส่งเสริมทักษะการสังเกต
  • ส่งเสริมเรื่องความกล้าตัดสินใจ

5.ช่วยส่งเสริมความคิดอย่างอิสระ

การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิดอย่างอิสระเป็นหนึ่งเป้าหมายของการศึกษา ซึ่งทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างอิสระเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ ไม่เพียงสำคัญต่อการเป็นนักคิดที่ยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังเป็นทักษะสำคัญในการเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างอิสระยังทำให้เข้าใจโลกโดยการสังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัว การตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ และได้ฝึกเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองด้วย

6.เป็นทักษะชีวิต

ทักษะการคิดวิเคราะห์ เป็นทักษะสำหรับชีวิตไม่ใช่แค่การเรียนรู้แล้วจบไป ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้สอนย่อมต้องการให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จทั้งในและนอกห้องเรียน และสามารถนำทักษะที่ได้เรียนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ หรือสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตนเอง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วผู้เรียนก็ต้องกลายเป็นครูและผู้นำในวันข้างหน้า ทักษะการคิดวิเคราะห์จึงเป็นการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิต

วิธีพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์

อย่างที่บอกว่าทักษะการคิดวิเคราะห์เป็นการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆหรือมีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งต่างๆอยู่เสมอ หลังจากที่คุณได้เริ่มฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ไปแล้ว คุณควรพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยอาจลองทำตามวิธีการเหล่านี้

1.ควรใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ที่สุด

การเสียเวลาเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือการที่คุณปล่อยให้เวลาผ่านไปเปล่าๆก็มักเกิดขึ้นกับแทบทุกคน เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ อาจลองตั้งคำถามหรือประเมินตัวเองในช่วงเวลานั้นๆของแต่ละวันแทน ตัวอย่างคำถาม

  • วันนี้คุณทำอะไรได้ดี/แย่ที่สุด
  • วันนี้คุณคิดเรื่องอะไรอยู่บ้าง
  • วันนี้คุณยอมให้ความคิดลบมาทำให้คุณหงุดหงิดหรือเปล่า
  • ถ้าวันนี้ต้องทำอะไรเดิมๆ คุณสามารถทำอะไรที่แตกต่างออกไปได้หรือไม่
  • วันนี้คุณได้ทำอะไรเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวไปแล้วบ้าง
  • วันนี้คุณเป็นตัวของตัวเองหรือไม่
  • ถ้าคุณทำบางสิ่งอยู่อยางนี้เป็นเวลา 10 ปี ถึงตอนนั้นมันจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่

นี่เป็นเพียงตัวอย่างคำถามบางส่วนเท่านั้น คุณอาจจะถามเพียงวันละหนึ่งคำถามหรือมากกว่านั้นก็ได้ และค่อยๆไตร่ตรองคำตอบของคุณ เมื่อคุณทำบ่อยๆมันจะกลายเป็นนิสัยการคิดของคุณไปเอง

2.ควรเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ

พยายามเรียนรู้สิ่งที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน อาจเริ่มจากการถามว่า คุณอยากรู้อะไรมาตลอด? หรือ มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องอะไรที่คุณอยากรู้คำตอบมาตลอดหรือไม่? และอย่าหยุดทำจนกว่าคุณจะพบคำตอบที่คุณต้องการ เพราะนอกจากจะตอบสนองความต้องการอยากรู้ของคุณเองแล้ว ยังเป็นการพัฒนานิสัยเรื่องความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของการเป็นนักคิดวิเคราะห์

เพราะการเรียนรู้ไม่มีขอบเขต เพียงแค่เชื่อในศักยภาพของตัวคุณเอง หากคิดว่าคุณแก่เกินที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ให้พิจารณาบุคคลต่อไปนี้ :

  • หลุยส์ เฮย์ ก่อตั้งบริษัทสำนักพิมพ์ชื่อดังระดับโลก Hay House เมื่ออายุ 50 ปี
  • จอห์น เกล็น เป็นบุคคลอายุมากที่สุดที่เดินทางสู่อวกาศ เมื่ออายุ 72 ปี
  • JRR Tolkien ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก The Lord of the Rings เมื่ออายุ 62 ปี
  • Priscilla Sitienei พยาบาลชาวเคนยาเรียนรู้ที่จะอ่านและเขียน เมื่ออายุ 90 ปี
  • John Wayne ได้รับรางวัลออสการ์สำหรับภาพยนตร์เรื่อง True Grit เมื่ออายุ 62 ปี
  • HG Wells สำเร็จวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เมื่ออายุ 76 ปี

3.ควรตั้งคำถามกระตุ้นการเรียนรู้

การเรียนรู้สมัยใหม่จะเน้นสอนให้ตั้งคำถามและสำรวจความเป็นไปได้ การตั้งคำถามซึ่งนำไปสู่คำตอบที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์เป็นหัวใจสำคัญของการคิดวิเคราะห์ เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ให้นึกถึงบางสิ่งที่ใครบางคนเพิ่งบอกคุณเมื่อไม่นานมานี้ และลองตั้งคำถามว่า

  • ใครเป็นคนพูด – เป็นคนรู้จักหรือไม่, มันสำคัญหรือไม่ว่าใครเป็นคนบอกเรื่องนี้
  • เขาพูดอะไร – เป็นข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็น, ให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือไม่
  • เขาพูดที่ไหน – ในที่สาธารณะหรือในที่ส่วนตัว, บุคคลอื่นมีโอกาสตอบกลับและมีช่องทางเลือกอื่นอีกหรือไม่
  • เขาพูดเมื่อไหร่ เวลามีความสำคัญหรือไม่, ก่อน ระหว่าง หรือหลังเหตุการณ์สำคัญ
  • ทำไมเขาถึงพูดมัน เขาพยายามทำให้ใครบางคนดูดี/ดูไม่ดี หรือไม่, เขาอธิบายเหตุผลของความคิดเห็นเขาหรือไม่
  • เขาพูดอย่างไร – มีความสุข เศร้า โกรธ หรือไม่แยแส, เขียนหรือพูด, คุณเข้าใจสิ่งที่เขาพูดหรือไม่

ซึ่งคำถามเหล่านี้จะช่วยฝึกทักษะการสังเกต ซึ่งการสังเกตเป็นจุดเริ่มต้นของทักษะการคิดวิเคราะห์ และฝึกให้เราตั้งใจฟังและเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้น

4.ควรเป็นผู้ฟังที่ดี

การเป็นผู้ฟังที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย คุณจะต้องฟังอย่างมีสติในสิ่งที่คนอื่นกำลังพูดและที่สำคัญคือ ต้องทำความเข้าใจข้อความของพวกเขาด้วยว่าผู้พูดต้องการอะไรหรือพยายามจะทำอะไรให้สำเร็จ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจหรือการเอาใจใส่ผู้พูดอย่างแท้จริง คุณสามารถทำตามสิ่งเหล่านี้เพื่อเป็นผู้ฟังที่ดีได้

  • พูดน้อยลง – ไม่ควรพูดและฟังในเวลาเดียวกัน ควรเปิดใจให้อีกฝ่ายได้ในสิ่งที่เขาต้องการจากการที่มีคุณคอยเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังพูด
  • ตั้งใจฟัง – สภาพแวดล้อมต้องเหมาะกับการพูดคุย ควรเปิดใจรับฟังโดยการสบตาและมีส่วนร่วม
  • ทำให้ผู้พูดรู้สึกสบาย – อาจเป็นการพยักหน้าหรือใช้ท่าทาง ตำแหน่งที่นั่งก็สำคัญอย่างเช่นการนั่งข้างๆ
  • กำจัดสิ่งรบกวน – หากผู้พูดต้องการความเป็นส่วนตัว ควรขอเวลาคนอื่นให้เวลาส่วนตัวแก่คุณสัก2-3นาทีแล้วค่อยปิดประตู หรือการปิดหน้าจอและปิดเสียงโทรศัพท์
  • เอาใจใส่ – ลองเรียนรู้แทนที่จะสงสัยในตัวของผู้พูด
  • อย่ากลัวบทสนทนาเงียบ – บางคนอาจต้องการเวลาในการคิดเพื่อตอบบทสนทนาอย่างรอบคอบ การเร่งให้พูดหรือตอบอาจขัดขวางโอกาสในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา
  • ใส่ใจน้ำเสียงผู้พูด – บางครั้งน้ำเสียงอาจซ่อนความหมายของข้อความ และบางครั้งน้ำเสียงก็ช่วยเพิ่มความหมายของข้อความ
  • ใส่ใจการสื่อสารที่ไม่ใช่คำพูด – ผู้พูดจะสื่อสารผ่านภาษากายและการแสดงออกทางสีหน้า จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมผู้ฟังจำเป็นต้องสบตาผู้พูดด้วย
  • ทำความเข้าใจข้อความที่ได้ฟังและคิดตาม
  • ละทิ้งอคติส่วนตัว

5.ควรแก้ทีละปัญหา

คนวัยทำงานแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับปัญหาหลายอย่างในเวลาเดียวกัน คุณควรเลือกที่จะแก้ไขทีละปัญหา เพื่อไม่ให้เป็นการหลุดโฟกัสปัญหาที่คุณต้องการแก้ไขและหาข้อยุติ พร้อมกับการเรียนรู้วิธีหลีกเลี่ยงปัญหานั้นๆในอนาคตด้วย อย่าพยายามหนีปัญหาหรือผลัดไปเรื่อยๆ เพราะคุณอาจจะไม่พยายามกลับมาแก้ไขมันอีกก็ได้ เผชิญหน้ากับมัน ทำให้เสร็จ คุณจะได้มีเวลาไปทำสิ่งที่สำคัญกว่าในชีวิตต่อไป

อีกหนึ่งบทความที่อยากแนะนำให้ทำความเข้าใจควบคู่กันเพื่อการฝึกทักษะด้านความคิด คือ

Design Thinking คือ แนะนำหลัก การคิดเชิงออกแบบ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการคิดสำหรับการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีประโยน์ทั้งในที่ทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

  • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
  • ข้อมูลอ้างอิง : 1 / 2 / / 4

เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ :
* สงวนลิขสิทธิ์ทุกเนื้อหา และ ภาพประกอบของ Jorportoday สามารถนำไปเผยแพร่ได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เชิงพาณิชย์

** กรณีมีการคัดลอกบทความของเราไปส่วนใดส่วนหนึ่ง โปรดติดลิงค์กลับมาที่หน้านี้เพื่อให้เครดิตกับเรา

Similar Articles

Special advertising

spot_img

Special Ads

spot_img

Ads.1

spot_img

Ads.3

spot_img

Ads.4

spot_img
spot_img

Ads.5

spot_img

Most Popular